บลจ.กรุงไทย เตรียมปันผล 6 กองทุนมูลค่ารวม 1.96 พันลบ. จ่าย 15 ธ.ค.59

บลจ.กรุงไทย จ่อปันผลกองอสังหาฯ-โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 6 กองทุน มูลค่ารวม 1.96 พันลบ. กำหนดจ่ายปันผล 15 ธ.ค.59


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการลงทุนมีมติจ่ายเงินปันผล 6 กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวมกว่า 1,961 ล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตลาดไท (TTLPF) จ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 24 ในอัตรา 0.4505 บาทต่อหน่วย กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซี.พี.ทาวเวอร์ โกรท (CPTGF) จ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 11 ในอัตรา 0.1669 บาทต่อหน่วย พร้อมลดทุนจดทะเบียนในอัตรา 0.0040 บาทต่อหน่วย รวมจำนวนเงินที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับ 0.1709 บาทต่อหน่วย

รวมทั้ง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทลอินเวสเม้นต์ (TRIF) จ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 14 ในอัตรา 0.167 บาทต่อหน่วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียล อินเวสเม้นต์ (TCIF) จ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 17 ในอัตรา 0.2000บาทต่อหน่วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเม้นต์ (THIF) จ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 8 ในอัตรา 0.129 บาทต่อหน่วย และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 4 ในอัตรา 0.1000 บาทต่อหน่วย พร้อมลดทุนจดทะเบียน ครั้งที่ 2 ในอัตรา 0.2210 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลทั้ง 6 กองทุนนี้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2559 กองทุนจะทำการขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 กองทุนและจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 พร้อมจ่ายเงินลดทุนของกองทุน CPTGF และ EGATIF ในวันที่ 16 ธันวาคม 2559

โดยกองทุน TTLPF ลงทุนในสิทธิการเช่าบางส่วนในโครงการตลาดไทระยะเวลา 20 ปี (ปัจจุบันสัญญาเช่ามีอายุคงเหลือ16 ปี) ประกอบด้วยอาคารตลาดน้ำปลาน้ำจืด/อาหารทะเล อาคารตลาดอาหารแปรรูป อาคารตลาดสด อาคารตลาดหมูปลอดสาร  อาคารตลาดของแห้ง/ตลาดขนมใหม่ อาคารศูนย์อาหาร อาคารตลาดผัก อาคารตลาดดอกไม้ อาคารส้ม อาคารผลไม้คัดคุณภาพ อาคารผลไม้รวม โชว์รูมตลาดนัดมอเตอร์ไซด์ รถเข็นคุณภาพ อาคารห้องน้ำ อาคารสำนักงานตลาด (ภาคกลางคืน)  อาคารเอนกประสงค์ ที่จอดรถลาน A และลาน B

ส่วนกองทุน CPTGF ลงทุนในสิทธิการเช่าในที่ดิน และอาคารประเภทสำนักงานและศูนย์การค้า เป็นระยะเวลา 30 ปี ใน 3 ทำเล ได้แก่ อาคารซี.พี .ทาวเวอร์ 1 (สีลม) อาคารซี.พี.ทาวเวอร์  2 (ฟอร์จูน ทาวน์) และอาคารซี.พี.ทาวเวอร์ 3 (พญาไท) ผู้เช่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง มีความหลากหลายในประเภทของธุรกิจ ทั้งบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล

ด้านกองทุน TRIF มีนโยบายลงทุน (freehold) ในศูนย์การค้าจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ โครงการศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โครงการตะวันนา และโครงการโอ.พี.เพลส

ขณะที่กองทุน TCIF มีนโยบายลงทุน แบบ Leasehold+Freehold โดยลงทุน Freehold ในโครงการอาคารอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์ อาคารเอ็มไพร์ อาคารไซเบอร์ เวิร์ลด และอาคาร 208 และสิทธิการเช่าในที่ดิน (Leasehold) สำหรับอาคารแอทธินี

ค้านกองทุน THIF ลงทุนในโรงแรมจำนวน 12 แห่ง ตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ประกอบด้วย 1) โรงแรม อิมพีเรียล สมุย บีช รีสอร์ท 2) โรงแรม อิมพีเรียล โบ๊ท เฮ้าส์  บีช รีสอร์ท 3) โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค 4) โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต 5) โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ ถ.สุรวงศ์ เขตบางรัก 6)โรงแรม บันยันทรี สมุย 7) โรงแรมวนาเบลล์ เอ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น รีสอร์ท เกาะสมุย 8) โรงแรม ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ 9)โรงแรมดับเบิ้ลทรี ฮิลตัน กรุงเทพ 10)โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ 11) โรงแรม โอกูระ เพรสทีส กรุงเทพ และ 12) โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ

ส่วนกองทุน EGATIF ลงทุนในสิทธิการรับรู้รายได้ค่าความพร้อมจ่าย ในอนาคตที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้า พระนครเหนือ ชุดที่ 1 ด้วยการเข้าทำสัญญากับกฟผ.ในสัญญาการเข้าลงทุนในรายได้ค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งมีอายุสัญญา 20 ปี นับจากวันที่กองทุนรวมเข้าลงทุน และกองทุน DTCPF ลงทุนในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ และการลงทุนในสิทธิการเช่าในทรัพย์สินของโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน

 

Back to top button