2 หุ้นติดปีก อ้าแขนรับราคายางพุ่ง

จากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้มีการประเมินต่อสถานการณ์ราคายางพาราในปี 2560 ว่า ราคาเฉลี่ยยางดิบ 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากราคาเฉลี่ย 48.4 บาทต่อกิโลกรัมของปีก่อน เหตุจากจีนใช้นโยบายลดภาษีรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จากเดิมร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 5 เริ่มเดือนตุลาคม 2558 สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2559


–เส้นทางนักลงทุน–

 

จากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้มีการประเมินต่อสถานการณ์ราคายางพาราในปี 2560 ว่า ราคาเฉลี่ยยางดิบ 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากราคาเฉลี่ย 48.4 บาทต่อกิโลกรัมของปีก่อน เหตุจากจีนใช้นโยบายลดภาษีรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จากเดิมร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 5 เริ่มเดือนตุลาคม 2558 สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2559

ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในจีนปีที่ผ่านมาทะลุ 24 ล้านคันเป็นครั้งแรก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 จากปีก่อนหน้า เร่งการใช้ยางพาราเพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ของโรงงานในจีน จนระดับสต็อกยางภาคเอกชนจีนเมืองชิงเต่าลดลงอย่างต่อเนื่องถึงระดับต่ำสุดประมาณ 47,000 ตัน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากระดับสูงสุดที่ 230,000 ตันเมื่อต้นปี ทำให้ราคายางพาราซึ่งเคยขายได้ที่ราคาเฉลี่ย 35 บาทต่อกิโลกรัม (3 โล 100) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2559 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ดันราคายางให้สูงอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 จากราคาช่วงต้นปี และในปี 2560 TMB Analytics คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20.0 จากปีก่อน จึงเป็นแรงส่งให้ราคายางทะยานอย่างต่อเนื่อง

กรณีของยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนเพิ่มขึ้น ทำให้สต็อกยางภาคเอกชนจีนชิงเต่าลดลงต่อเนื่องนั้น จะทำให้โอกาสที่ทางจีนจะสั้งออเดอร์ยางพาราจากประเทศไทยก็มีมากเพราะยางพาราไทยมีคุณภาพสูง ดังนั้นจะเป็นผลบวกต่อราคายางให้มีการปรับตัวขึ้น   

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกื้อหนุนทั้งความต้องการยางจากจีนและราคาน้ำมันแล้ว ผนวกกับปัจจัยในประเทศคือนโยบายควบคุมปริมาณยางพาราของภาครัฐที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องตลอดระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตยางของไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5 ล้านตันต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้และฝนตกต่อเนื่องภาคใต้ทำให้ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติลดลง 281,100 ตัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของปริมาณผลผลิตทั้งประเทศทั้งปี ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมระยะสั้นให้ราคายางพาราพุ่งต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นดิบล่าสุดอยู่ที่ 87.3 บาทต่อกิโลกรัม

สิ่งสำคัญ ยังเป็นโอกาสให้ภาครัฐสามารถทยอยระบายสต็อกยางจากการใช้มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางในอดีต ไม่ให้เป็นปัจจัยกดดันราคายางในอนาคตอีกด้วย

เห็นได้ว่า สถานการณ์ราคา ณ ปัจจุบัน เรียกว่าเป็น “หนังคนละม้วน” เมื่อเทียบกับสถานการณ์ต้นปีก่อน!!

ทั้งทางบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าได้รับประโยชน์เต็มๆ คงหนีไม่พ้น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือSTA ซึ่งผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราครบวงจร ทั้งยางธรรมชาติ ยางแผ่นรมควัน (RSS) ยางแท่ง (TSR) และน้ำยางข้น (concentrated latex) รวมถึงธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากยาง จัดจำหน่ายสินค้า และธุรกิจบริการ

รวมถึง บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือTRUBBที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ ธุรกิจปลูกสวนยางพาราในประเทศไทย ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบจากยางพารา ได้แก่ น้ำยางข้น ยางแท่ง ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืด และที่นอนยางพารา นอกจากนี้บริษัทยังประกอบธุรกิจนายหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ทางโบรกฯเชียร์”เก็งกำไร” ทั้ง STA และ TRUBB รับผลบวกจากราคายาง Tocom พุ่ง

นอกจากนี้ บล.ทรีนีตี้คาดการณ์ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ว่ารายได้รวมปี 2560 ที่ 1.13 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 54.4%จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการที่ราคายางแท่งและปริมาณการขายคาดว่าจะมีการเติบโต จากการที่อุปทานที่เข้าสู่ตลาดโลกลดลง โดยคาดว่าจะมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ราว 6% และกำไรสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ STA ได้แจ้งต่อตลาดว่าจะทำการถือหุ้นในบริษัทสยามเซมเพอร์เมดเพิ่มเป็น 90.2% ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงมือยาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่ STA ในด้านของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยอดสั่งซื้อยางที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่แน่นอนมากขึ้น ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 33.30บาท

เมื่อเทียบกันทั้ง 2 บริษัท ยังคงให้ STA เด่นสุด แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทได้รับประโยชน์ทั้งคู่แต่จะมากจะน้อยเท่านั้น!!

Back to top button