อูเบอร์ Vs รัฐผู้ใหญ่ลี

คนขับแท็กซี่อูเบอร์ น่าจะเป็นภัยความมั่นคงไม่แพ้ธรรมกาย เพราะกรมการขนส่งทางบกสนธิกำลังทหารม้า ทหารราบ ตำรวจท่องเที่ยว 191 ล่อซื้อจับปรับ 18 ราย รายละ 2,000 บาท พร้อม “ปรับทัศนคติ” เป็นเวลา 3 ชั่วโมง


ทายท้าวิชามาร :ใบตองแห้ง

 

 

คนขับแท็กซี่อูเบอร์ น่าจะเป็นภัยความมั่นคงไม่แพ้ธรรมกาย เพราะกรมการขนส่งทางบกสนธิกำลังทหารม้า ทหารราบ ตำรวจท่องเที่ยว 191 ล่อซื้อจับปรับ 18 ราย รายละ 2,000 บาท พร้อม “ปรับทัศนคติ” เป็นเวลา 3 ชั่วโมง

ไม่กี่วันนี้ที่เชียงใหม่ ขนส่งก็จับอูเบอร์ จนเกิดดราม่า ชาวเน็ตล่าชื่อใน Change.org เรียกร้องให้จัดระเบียบปรับปรุงคุณภาพรถแดง รถโดยสารคู่บ้านคู่เมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่เคยแน่นอนทั้งเส้นทางและราคา

ฝ่ายรถแดงก็ตั้งทีมล่าอูเบอร์ ถ่ายคลิปส่งให้จับ ล่าสุดจับอีก 10 คัน ขนส่งจังหวัดกล่าวว่ารถอูเบอร์ไม่เคารพและท้าทายกฎหมาย ผู้ให้บริการไม่มีความผิด เจ้าของรถผิด แต่กลับกินหัวคิว ยุยงส่งเสริมผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ผู้โดยสารเลิกใช้บริการรถสาธารณะ เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง โดยไม่คำถึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินผู้ใช้บริการ

อืมม..ฟังเหมือนท่านไม่พอใจการล่าชื่อใน Change.org ว่าเป็นการ “ท้าทายกฎหมาย” ทำเพื่อผลประโยชน์อูเบอร์ ไม่ใช่เสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค

ประธานสหกรณ์สามล้อเครื่องก็บอกว่า อูเบอร์ตัดราคา เพราะถ้าเหมารถแดงไป-กลับดอยสุเทพ 800 บาท รถอูเบอร์ 350-400 บาทเนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีรถรับจ้าง ภาษีบุคคลธรรมดา ไม่มีทะเบียนประวัติ ไม่ต้องอบรม ไม่ต้องผ่อนค่ารถ หรือเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ทำให้ไม่มีต้นทุนมากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นมากอบโกยผลประโยชน์จากเมืองท่องเที่ยว หากเกิดความเสียหายกับผู้โดยสาร ไม่ต้องรับผิดชอบเอาผิดไม่ได้

คำถามคืออูเบอร์ไม่รับผิดชอบจริงหรือ อูเบอร์ปลอดภัยกว่าไหม แล้วผลประโยชน์ของผู้บริโภคล่ะ อยู่ตรงไหน

พูดอย่างนี้ไม่ใช่นิยมแท็กซี่อูเบอร์ ผมเห็นใจแท็กซี่มิเตอร์หาเช้ากินค่ำด้วยซ้ำไป ว่าที่จริง อูเบอร์คือคนชั้นกลางหาลำไพ่แย่งรายได้คนชั้นล่าง ซึ่งเสียเปรียบทุกอย่าง ทั้งโดนตำรวจเพ่งเล็ง เข้มงวดกระทั่งเครื่องแต่งกาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง เสียค่าคิวค่าอะไรต่างๆ

ใช่ครับ มองอย่าง “เท่าเทียม” อูเบอร์ แกร็บ ควรเข้าสู่ระบบ เสียภาษี ขอใบอนุญาต ฯลฯ อยู่ใต้บังคับอย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” แต่มองกลับกัน การที่อูเบอร์ได้รับความนิยม สะท้อนอะไร

มันสะท้อนใช่ไหมว่า บริการสาธารณะ ที่บริหารจัดการโดยเอกชน โดยใช้เทคโนโลยี 4.0 สร้างความพึงพอใจ สะดวก สบาย เลือกได้ ยิ่งถ้าเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ก็ประหยัดกว่าทั้งเงินทั้งเวลา

ตรงข้ามกับบริการสาธารณะ ที่ควบคุมดูแลโดยรัฐ ต้องขออนุญาต ต้องจดทะเบียน ต้องอบรม (ต้องถูกเกณฑ์มาร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์?) ฯลฯ ต้องเข้าคิวตามจุด ท่ารถท่าเรือท่าอากาศยาน กลับกลายเป็นบริการที่แย่กว่า สิ้นเปลืองกว่า เอาเปรียบผู้บริโภคกว่า เผลอๆ ยังปลอดภัยน้อยกว่า

พูดง่ายๆ อูเบอร์ทำให้ประชาชนตระหนักว่า อำนาจกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก กลับทำให้เราได้รับบริการสาธารณะที่ห่วยกว่าจนประชาชนอยากถามว่า ขนส่งมีไว้ทำไม มีไว้เก็บค่าใบอนุญาตต่างๆ เท่านั้นหรือ

ซึ่งถ้ามองขยายไปถึงสัมปทานรถทัวร์ รถร่วม บขส. รถร่วม ขสมก. ก็ไม่ได้ต่างกัน กลายเป็นบริการผูกขาดเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน

แต่นี่แหละวิธีคิดรัฐราชการ ที่เชื่อว่าต้องคุมอำนาจไว้กับตัวเอง ทั้งที่หลายเรื่องไม่จำเป็น ไม่ใช่จะทำได้ดี ไม่ใช่จะโปร่งใส ไม่สู้ปล่อยให้แข่งขันเสรี รัฐราชการต้องเป็นใหญ่ เก่งกว่า ดีกว่าเสมอ ต้องคุมทุกอย่าง บังคับให้ขออนุญาต ไม่ว่าเป็นยาม เป็นสื่อหรือเป็นพระ

แล้วก็ยังคิดว่าจะนำประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

Back to top button