พาราสาวะถี

เหมือนที่เคยบอกไว้ยังไงไม่รู้ ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของโพลบ้านเรา ประเภทเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจมันเห็นได้ชัดอะไรขนาดนั้น ยกตัวอย่าง ซูเปอร์โพลล่าสุด หากไม่จริงก็ให้ นพดล กรรณิกา ประธานของผู้จัดทำโพลชุดนี้อธิบายกับสังคมให้ที มีอย่างที่ไหนคนเขาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่เวลานี้ แทนที่จะทำว่าประสบปัญหาเป็นอย่างไร กลับถามไปอีกทางที่ไม่รู้เรียกว่าชี้นำหรือเปล่า


อรชุน

 

เหมือนที่เคยบอกไว้ยังไงไม่รู้ ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของโพลบ้านเรา ประเภทเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจมันเห็นได้ชัดอะไรขนาดนั้น ยกตัวอย่าง ซูเปอร์โพลล่าสุด หากไม่จริงก็ให้ นพดล กรรณิกา ประธานของผู้จัดทำโพลชุดนี้อธิบายกับสังคมให้ที มีอย่างที่ไหนคนเขาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่เวลานี้ แทนที่จะทำว่าประสบปัญหาเป็นอย่างไร กลับถามไปอีกทางที่ไม่รู้เรียกว่าชี้นำหรือเปล่า

กับคำถามที่ว่า ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาหรือไม่ คำตอบมันก็รู้อยู่แล้ว ทางที่ดีควรจะถามว่า ปัญหาปากท้องในรัฐบาลชุดนี้เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมาสถานการณ์เป็นอย่างไร น่าจะดูดีกว่าหรือไม่ และควรจะถามต่อไปด้วยว่า ปัญหาอะไรที่เดือดร้อนแล้วอยากให้รัฐบาลคสช.แก้ไขมากที่สุด

นี่คงเป็นภาพสะท้อนต่อเจตนารมณ์ของโพลสำนักนี้ที่เด่นชัดที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น คำถามและคำตอบที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง คงเป็นหัวข้อที่ว่า เชื่อมั่นว่าหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทางออกในการป้องกันแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและมีการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตหรือไม่ แน่นอนว่า ทั้งสองข้อประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว

แต่เมื่อมาถามข้อต่อไปว่า สิ่งที่ได้ทำในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ตอบ เวลาใช้จ่ายเงิน อยากกินอะไรกิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ ไม่วางแผนไว้ก่อน และเมื่อมองดูข้าวของในบ้าน พบว่ายังมีหลายอย่างที่ซื้อมากองๆ ไว้ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นี่ไงที่เป็นมันภาพความขัดแย้งกันอย่างมากของกลุ่มตัวอย่างชุดนี้ ทั้งที่เลือกใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่กับพฤติกรรมการซื้อข้าวของมันไปคนละทิศละทาง

หากถามคนทั่วไปย่อมคลางแคลงใจต่อผลโพลชุดนี้ไม่น้อย ส่วนบรรดากองเชียร์คณะรัฐประหารอันนี้ย่อมหลับหูหลับตาเห็นดีเห็นงามอย่างไม่ต้องสงสัย ตัดภาพไปที่อีกหนึ่งโพลกลับเห็นภาพของการอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงได้เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ อีสานโพล จากศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กับประเด็น “ทัศนะคนอีสานกับการปรองดอง” เมื่อถามว่าใครเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 พบว่าส่วนใหญ่มองว่ามวลชนทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเสื้อแดงเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง ร้อยละ 78.1 และร้อยละ 76.3 ตามลำดับ ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากันที่ร้อยละ 68.9 และกลุ่มกปปส.ร้อยละ 54.4

ที่น่าสนใจคือ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและเป็นฐานสนับสนุนใหญ่ของคนเสื้อแดง แต่ผลของโพลก็ยอมรับความเป็นจริงว่าทั้งสองส่วนคือตัวการสร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อถามต่อมาว่า การนิรโทษกรรมให้มวลชนที่มีความผิดเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับการได้รับนิรโทษกรรมถึงร้อยละ 37.3 รองลงมา ใกล้เคียงกันคือเห็นด้วยร้อยละ 34.6 และไม่แน่ใจร้อยละ 28.1

ขณะที่การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คือ การนิรโทษกรรมให้กับทุกคนและทุกฝ่ายนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 40.1 รองลงมาคือไม่แน่ใจร้อยละ 35.5 และเห็นด้วยเพียงร้อยละ 24.2 ตรงนี้ก็น่าจะเป็นการตอบข้อสงสัยของพวกสอพลอนายใหญ่ในพรรคเพื่อไทยไปด้วยในตัวว่า การเคลื่อนเกมดันนิรโทษกรรมสุดซอยจนทำให้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พังพาบไม่เป็นท่านั้น ที่เคยอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยไม่เป็นความจริง

การติดตามและวิเคราะห์ผลของโพลแม้จะมีบางส่วนที่ไม่เนียนและทำให้สังคมจับไต๋ได้ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้หลักวิชาการ เพื่อหยั่งเสียงถามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยปราศจากการชี้นำ ข้อมูลที่ได้ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายเพื่อนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจต่อการขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ

กรณีของการนิรโทษกรรมนั้น คงจะช่วยทำให้ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของสปท.ที่กำลังโยนหินถามทางด้วยการชงแนวทางลดหย่อนโทษผู้กระทำผิด ทั้งการรอลงอาญา-การถอนฟ้อง-การจำหน่ายคดีชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับการยึดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล แต่มีข้อยกเว้นคดีความมั่นคง

หลายคนคงงุนงงสงสัย ไม่รู้ว่าข้อเสนอนี้คนคิดตีมึนหรือมั่วกันแน่ เพราะหากกรณียึดสนามบินไม่ใช่คดีความมั่นคง ในโลกนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ไม่รู้ว่าใช้สมองส่วนไหนคิด ด้วยเหตุนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. จึงออกมาตั้งข้อสังเกตความหมายของคดีความมั่นคงนั้น สามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง

หากกรณีการยึดทำเนียบฯและการปิดล้อมสนามบินนั้น ไม่อยู่ในขอบข่ายความหมายของคดีความมั่นคงเสียแล้ว อาจจะกลายเป็นปัญหาหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอแนวทางมาในลักษณะดังกล่าวอาจก่อเป็นความขัดแย้งหรือไม่ และอาจจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป ซึ่งจะว่าไปแล้ว หลังมีป.ย.ป.เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าบรรดาข้อเสนอทั้งหลายจากกรรมาธิการชุดนี้ของสปท. ยังมีความหมายอยู่หรือไม่

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ หากผู้มีอำนาจยังมีสติและลดอคติที่มีต่อพวกหนึ่งพวกใดได้แล้ว น่าจะเห็นภาพที่เป็นจริงว่า ต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้งที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงจุดไหน ใครเป็นคนก่อและจะต้องขจัดกันตรงไหน แต่หากยังมะงุมมะงาหราคิดแต่ว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในปัจจุบันเป็นตัวถ่วง เป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดอง คิดได้เท่านี้เวทีที่จัดขึ้นก็ไร้ความหมาย เพราะมันไม่ต่างจากการที่ยังก้าวไม่พ้น ทักษิณ ชินวัตร ถ้ายังวนเวียนกันอยู่เท่านี้ไม่มีทางที่ประเทศจะขยับเดินหน้าไปไหนได้

Back to top button