พาราสาวะถี

ไม่ทราบว่าใครฟังแล้วรู้สึกดีหรือไม่ ต่อคำชี้แจงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจัดซื้อเรือดำน้ำภายใต้การนำของรัฐบาลคสช. “เขาบอกแล้วว่าเรือดำน้ำดังกล่าวซื้อ 2 ลำ แถมมา 1 ลำ ซึ่งขอให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการที่จะต้องมี และถ้าต้องมีจะซื้อจากไหน เพราะเราผลิตเองไม่ได้ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของแพงๆ แต่ตัวเลือกนี้คุณสมบัติอย่างต่ำเราจะรับได้และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งก็มีหลายอย่าง และในวันนี้กองทัพไทยก็ซื้อของแบบนี้ เพราะเงินเรามีน้อย”


อรชุน

 

ไม่ทราบว่าใครฟังแล้วรู้สึกดีหรือไม่ ต่อคำชี้แจงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจัดซื้อเรือดำน้ำภายใต้การนำของรัฐบาลคสช. “เขาบอกแล้วว่าเรือดำน้ำดังกล่าวซื้อ 2 ลำ แถมมา 1 ลำ ซึ่งขอให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการที่จะต้องมี และถ้าต้องมีจะซื้อจากไหน เพราะเราผลิตเองไม่ได้ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของแพงๆ แต่ตัวเลือกนี้คุณสมบัติอย่างต่ำเราจะรับได้และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งก็มีหลายอย่าง และในวันนี้กองทัพไทยก็ซื้อของแบบนี้ เพราะเงินเรามีน้อย

“กรณีนี้รู้สึกว่าราคาจะถูกที่สุด และคุณภาพใช้ได้ มีการบริการต่างๆ ทั้งระบบอาวุธ ระบบการซ่อม อะไรต่างๆ การช่วยสนับสนุน ก่อสร้างโรงเก็บเรือ ที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมขึ้นมา และโครงการนี้เป็นโครงการรัฐต่อรัฐ” ก่อนที่จะย้ำเรื่องยอมรับกระบวนการตรวจสอบโดยสตง. ก็อ้างและว่ากันไปตามหลักการเพื่อที่จะต้องไม่อธิบายอะไรกันมาก

แต่เชื่อแน่ว่า หลายคนได้ยินการอธิบายเช่นนี้แล้ว คงรู้สึกไม่สบายใจ นี่มันเรือดำน้ำยุทโธปกรณ์สำคัญที่จะแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือไทยนะ ทำไมมันลด แหลก แจก แถมเหมือนพวกสินค้าราคาถูกและให้ความรู้สึกเหมือนว่ามันไม่มีประสิทธิภาพอะไรประมาณนั้น แต่ก็อีกนั่นแหละ หากมองอย่างเข้าใจ ไม่ซื้อในยุคนี้แล้วจะไปซื้อในยุคไหน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องสนใจเสียงนกเสียงกาทั้งหลาย

ถามว่าใครจะกล้าตรวจสอบ ไม่ต้องพูดถึงสตง.เห็นท่วงทำนองของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส แล้วต้องบอกว่าช่างพลิ้วไหวอะไรขนาดนั้น มันชวนให้นึกถึงช่วงบั้นปลายของอดีตผู้ว่าฯสตง.คนก่อนอย่าง “หญิงเป็ด” จารุวรรณ เมณฑกา ขึ้นมาตะหงิดๆ บางทีคิดจะทำอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาอกเอาใจอำนาจที่ไม่จีรังยั่งยืน ก็พึงให้นึกถึงสิ่งที่จะตามมาในอนาคตให้ดี

คำพระที่ว่าเวรกรรมมีจริงมันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนคงพิสูจน์และสัมผัสได้ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะกลับคืนมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง ท่าทีของผู้ว่าฯสตง.คนปัจจุบันต่อกระบวนการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินและการเสียภาษีของรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.ได้รับการยืนยันทันทีทันใด ไม่อาจกระทำได้เพราะยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ท่านคงลืมไปว่ามีหลายคนที่พ้นจากเก้าอี้ไปแล้ว

สิ่งที่สังคมตั้งคำถามคือ คนซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้วต่างหาก ไม่เพียงเท่านั้นการเลือกเป้าหมายเป็นนักการเมืองในรัฐบาลอภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์ มันก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เพียงเพื่อนำมาอธิบายและสร้างภาพให้สังคมเห็นว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ และถือเป็นเป้าหลอกเนื่องจากเป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การโหมกระพือการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจาก ทักษิณ ชินวัตร ต่างหาก

ส่วนพวก 60 คนหรือจะเป็นหลักร้อยคน นั่นถือเป็นของแถม การหว่านแหไปขนาดนี้อาจมีบางคนที่ซวย จะด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของเจ้าตัวหรืออะไรก็ตาม ถือเป็นผลพลอยได้ เพราะการกลัวถูกมองว่าเป็นเกมการเมืองยืนยันจากปากของพิศิษฐ์เอง เพียงแต่ว่าเวลานี้สังคมเริ่มสับสน งุนงง สุดท้ายแล้วมันสามารถเรียกเก็บภาษีจากทักษิณได้หรือไม่

ขณะที่มีข้อสงสัยและทุ่มเถียงกันอยู่ ก็ยิ่งทำให้ต้องคิดกันหนักมากขึ้นอีก หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 41/2560 เรื่อง การขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ยืนยันว่าไม่สามารถกระทำได้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หากจะดำเนินการต้องเป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น

ในประเด็นนี้บิ๊กตู่ได้ตอบคำถามของนักข่าวไปแล้วหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคาร เป็นสิ่งที่จะต้องไปพิสูจน์กันตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนการที่รัฐบาลเลือกใช้อภินิหารกฎหมายหรือ Miracle of Law นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มิเช่นนั้น จะถูกดำเนินการข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดตามมาตรา 157 พร้อมยืนยันไม่ได้เจตนากลั่นแกล้งใคร

ดูเหมือนว่าหลังคำวินิจฉัยดังกล่าว ท่าทีของคนที่เคยขึงขังก่อนหน้านี้ในรัฐบาลก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ วิษณุ เครืองาม หลังจากก่อนหน้านั้นอธิบายกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน แต่พอล่าสุดถูกถามถึงเรื่องดังกล่าวรีบโยนให้เป็นเรื่องของกรมสรรพากรทันควัน พร้อมกับการออกตัวว่า “ไม่ได้สันทัดเรื่องนี้เท่าไรนัก” อ้าว!แล้วไหงเมื่อไม่กี่วันเพิ่งแจกแจงเป็นวรรคเป็นเวรเหมือนผู้ชำนาญการ

เมื่อเดินมาถึงจุดนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อข้อครหาปลุกผีทักษิณมาเพื่อเรียกเสียงเชียร์จากฝ่ายสนับสนุนคณะรัฐประหาร และเป็นการแก้เกมกลบข่าวร้ายๆ ที่รัฐบาลกำลังเผชิญ ด้วยเหตุนี้กระมัง นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของนายใหญ่ จึงออกมาแถลงข่าวตอบโต้ พร้อมลั่น ถ้ามีการประเมินภาษีของทักษิณจริง เรื่องต้องไปสู่กระบวนการยุติธรรมและคนแดนไกลต้องตั้งทนายความสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจต่อปมอภินิหารทางกฎหมาย ซึ่งนพดลบอกว่า  โดยส่วนตัวศึกษากฎหมายมาเพิ่งเคยได้ยินคำว่าอภินิหารทางกฎหมายเป็นครั้งแรก แต่ที่ได้ยินมานานและเห็นว่าสิ่งที่นักกฎหมายต้องปฏิบัติตามคือหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ในยามที่เราต้องการสร้างความปรองดอง หลักนิติธรรมจะนำเราไปสู่ความปรองดองแน่นอน ไม่ต้องเสี่ยงหาช่องทางเล่นงานใคร

ส่วนที่สตง.แย้งว่าสามารถเรียกเก็บภาษีได้ โดยใช้ตามช่องทางมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากรนั้น นพดลระบุว่า เรื่องนี้จบไปแล้ว การจะประเมินภาษีทักษิณต้องใช้มาตรา 19 ของประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีภายใน 5 ปี แต่ขณะนี้ผ่านพ้นเวลานั้นมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นนั่นหมายความว่าเรื่องนี้จบและขาดอายุความไปแล้ว

มุมดังกล่าวคงเหมือนที่กรมสรรพากรได้เคยอธิบายไว้ก่อนหน้า ในช่วงที่คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลภาษี กรมสรรพากรได้ใช้มาตรานี้ เพื่อระบุว่าพานทองแท้และพินทองทา เป็นผู้ที่ลงนามในเอกสารสำคัญ ที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินคือหุ้นชินคอร์ปนั้นแล้ว แต่ศาลภาษียกประเด็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่า หุ้นทั้งหมดรวมหุ้นที่เป็นกรณีพิพาททางภาษีนี้ด้วย เป็นของทักษิณ ดังนั้น จึงไม่สามารถยื่นฟ้องซ้ำในคดีเดียวกันนี้ได้อีก งานนี้คงต้องรออภินิหารจริงๆ

Back to top button