อภินิหารหรือฉ้อฉล

เมื่อปลายปี 2558 ก่อนหน้าทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปแค่เดือน-สองเดือนเอง ตระกูลเบญจรงคกุลก็ขายหุ้นยูคอมให้กับเทเลนอร์แห่งนอร์เวย์


ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

 

เมื่อปลายปี 2558 ก่อนหน้าทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปแค่เดือน-สองเดือนเอง ตระกูลเบญจรงคกุลก็ขายหุ้นยูคอมให้กับเทเลนอร์แห่งนอร์เวย์

ขายในตลาดหุ้นเช่นเดียวกับชินคอร์ปทุกประการ จึงไม่มีภาระในเรื่องภาษี แต่ก็ไม่มีเรื่องราวทวงคืนภาษีเหมือนกับชินคอร์ป

คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ก็ยังอยู่ดีมีความสุข ไม่ต้องโดนยึดทรัพย์ และตามล่าทวงภาษีภาค 2 เฉกเช่นเดียวกับทักษิณ

หลักการใหญ่ของการเก็บภาษี ยังไงก็ต้องยึด 2 หลักใหญ่เอาไว้ให้มั่น ไม่เช่นนั้นผู้คนก็จะไม่ให้ความเคารพระบบจัดเก็บภาษีของประเทศอันเป็นการก่อค่านิยมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

นั่นก็คือ การจัดเก็บภาษีต้องเป็นธรรม และการจัดเก็บภาษีต้องไม่ซ้ำซ้อน

กรณีบุคคลใดทำงานในต่างประเทศเกิน 180 วัน จะเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลในประเทศที่ตนไปทำงานหรือในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องเสียภาษีทั้งในและนอกประเทศ โดยได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

หรือในกรณีซื้อขายที่ดิน หากมีการเสียภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ก็ไม่เอามานับรวมเป็นรายได้ตลอดปีเพื่อการยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก

ความเป็นธรรมและไม่ซ้ำซ้อน จึงถือเป็นหลักการใหญ่ของระบบจัดเก็บภาษีที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ครับ กรณีไล่ล่าตามเก็บภาษีทักษิณอีก 16,000 ล้านบาทจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กช่วงต้นปี 2559 น่ะ มันจบลงไปตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาทแล้ว

เพราะกรณีการหลบเลี่ยงภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปก็เป็นมูลความผิดหนึ่งในการยึดทรัพย์ ร่วมกับมูลความผิดอื่นๆ ที่ประมูลฟ้องกันมาในคราวเดียวกันนั้น

อาทิ เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมโดยมิชอบ อันเป็นการกีดกันผู้อื่นและหาประโยชน์ใส่ตน เรื่องการไม่มีดาวเทียมสำรองตามทีโออาร์สัมปทานดาวเทียม ตลอดจนข้อหาความผิดอื่นๆ…

ที่ประมวลเข้าด้วยกัน แล้วตัดสินยึดทรัพย์!

ฉะนั้น อันความผิดใดที่ศาลตัดสินไปแล้วและก็ดำเนินการลงโทษไปแล้วด้วย จะมาฟ้องซ้ำหรือดำเนินคดีซ้ำ ไม่ได้หรอก ไม่มีใครเขาทำกัน

ใช้อำนาจบาตรใหญ่กันเกินไป และทำลายหลักการยุติธรรมอย่างร้ายแรงเกินไป

นอกจากนั้น ก็ยังมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีของกระทรวงการคลังที่สตง.ถามไปเพื่อจะเรียกเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร

ซึ่งคณะกรรมการฯก็ชี้ขาดและประกาศในราชกิจจาฯไปแล้วว่า คดีหมดอายุความไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากไม่ได้ออกหมายเรียกบุคคลให้มาทำการเสียภาษีภายในระยะเวลา 5 ปี

ตามขั้นตอนกฎหมายและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา พอคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีฯวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็มักจะต้องยึดถือปฏิบัติไปตามนั้น

แต่นี่พออายุความ 5 ปีตามมาตรา 19 ใช้ไม่ได้ ก็ยังมีความพยายามตะแบงไปใช้อายุความ 10 ปีตามมาตรา 61 กันอีกและก็ยังคิดตะแบงไปไกลถึงขั้นจะไปเอามาตรา 820 กฎหมายแพ่งมาเป็นบทเทียบเคียงในเรื่องตัวการตัวแทนเสียอีก

ทั้งที่ศาลภาษีอากรกลางก็เคยมีคำสั่งให้งดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปนอกตลาดไปแล้ว เนื่องจากยึดถือตามศาลฎีกาฯว่าเจ้าของหุ้นแท้จริงคือทักษิณและคุณหญิงอ้อ

ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตลอดจนคำสั่งศาลฎีกาฯ ศาลภาษี และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีฯมันล้อมกรอบประเด็นจ่ายภาษีเพิ่มชินคอร์ปซะอย่างนี้แล้ว

เนติบริกรอย่างวิษณุ เครืองาม ก็ยังมีปัญญาเฉียบ คิดประดิษฐ์วาทกรรม “ปาฏิหาริย์ของกฎหมาย” หรือ Miracle of Law”-ขึ้นมาจนได้

ถ้าใช้คำศัพท์อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ก็ต้องบอกว่า อดีตอาจารย์สอนกฎหมายวิชารัฐธรรมนูญท่านนี้ “ฮ้อแร่ด” จริงๆ

กฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์มันก็มีอยู่หลักเดียวล่ะนะ คือหลักนิติธรรมหรือ “Rule of Law” ที่ไม่ตีความกฎหมายตามใจใครหรือตีความเพื่อประจบสอพลอผู้มีอำนาจใด

ปาฏิหาริย์กฎหมาย ไม่มีหรอก เห็นแต่ความฉ้อฉลทางกฎหมายแค่นั้นเอง

Back to top button