KTB ไร้กังวล AQ ถูกแบนเพิ่มทุน เหตุยังสามารถเจรจาในชั้นศาลได้

KTB ไม่กระทบ AQ ถูกเบรกเพิ่มทุน เหตุตั้งสำรองฯ 100% ก่อนหน้านี้นานแล้ว ย้ำเกาะติด IFEC หวั่นกระทบหนี้บ.ลูก “IFEC Thermal” ชี้ NPL มีสิทธิ์ขึ้นระดับสูงสุดใน Q2/60


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า กรณีที่ลูกหนี้ของธนาคาร คือ บริษัทเอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ยังไม่สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้นักลงทุนในวงจำกัด (PP) เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ หลังจากต้องเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นออกไปเพื่อดำเนินการตามหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นั้น ธนาคารมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากได้ตั้งสำรองฯ เต็ม 100% ของมูลหนี้ AQ ราว 1 หมื่นล้านบาทไว้ก่อนหน้านี้นานแล้ว

ทั้งนี้ถึงแม้ว่า AQ จะไม่สามารถเพิ่มทุนได้ แต่หากบริษัทสามารถขายสินทรัพย์ได้ ธนาคารก็จะรับรู้กำไรจากการขายสินทรัพย์ของ AQ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาหลายราย อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่สามารถระบุระยะเวลาการสิ้นสุดกระบวนการจัดการ เพราะขั้นตอนต่างๆ ยังอยู่ในชั้นศาล

ส่วนลูกหนี้รายสำคัญอีกรายหนึ่ง คือ IFEC Thermal ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จากการกู้ยืมเงินโปรเจ็คต์ไฟแนนซ์กับ KTB เพื่อใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2-3 โรง ปัจจุบัน IFEC Therma ยังชำระหนี้ตามปกติ แม้ว่าบริษัทแม่จะยังไม่ได้ข้อสรุปในการหาแนวทางเดินหน้าธุรกิจและชำระหนี้เงินกู้คืนให้กับเจ้าหนี้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามสถานการณ์ของ IFEC อย่างใกล้ชิด เพราะหากบริษัทแม่ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมาที่ชัดเจนว่าแผนงานต่างๆ จะเป็นอย่างไร ในระยะยาวก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลูกได้ และก็มีโอกาสที่บริษัทลูกจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ในอนาคต

ทั้งนี้แนวโน้ม NPL ของธนาคารในภาพรวมคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 2/60 ซึ่งส่งผลให้ธนาคารจะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น แต่ในปี 60 ธนาคารยังคาดว่าจะมีการตั้งสำรองฯ ใกล้เคียงกับปี 59 โดยจะใช้วิธีการขายสินทรัพย์รอจำหน่าย, การตัดจำหน่ายหนี้สูญ และการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อทำให้ระดับ NPL ของธนาคารลดลง

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในช่วงไตรมาส 1/60 คาดว่าจะยังทรงตัวจากช่วงเดียวกับของปีก่อน แม้ว่าในช่วงเดือน  ม.ค.-ก.พ.60 สินเชื่อรวมของธนาคารยังคงหดตัว แต่ในเดือน มี.ค.60 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของสินเชื่อ เพราะลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของทางภาครัฐ เริ่มมีการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังคาดว่าในไตรมาส 2/60 จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารมั่นใจว่าสินเชื่อรวมในปี 60 ของธนาคารจะยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้เติบโต 6% จากปีก่อนที่สินเชื่อรวมทั้งปีหดตัว

ส่วนการเปิดให้บริการการโอนเงิน “พร้อมเพย์” ธนาคารมองเรื่องผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป หากมีผู้ใช้บริการเต็ม 100% จะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารกรุงไทย ราว 1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ปัจจุบันธนาคารจะต้องหารายได้อื่นๆเข้ามาชดเชยรายได้จากการให้บริการโอนเงินที่ลดลง อย่างเช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่นๆให้กับลูกค้า เป็นต้น

Back to top button