บอร์ด PPP ไฟเขียวเพิ่ม 6 โครงการเข้า Fast Track มูลค่ากว่า 6 แสนลบ.

บอร์ด PPP ไฟเขียวเพิ่ม 6 โครงการเข้า Fast Track มูลค่าลงทุนกว่า 6 แสนลบ.


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบโครงการที่จะดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track เพิ่มเติม จำนวน 6 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท

ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก (รฟม.) มูลค่าโครงการ 131,172 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและช่วงตะวันออก (รฟม.) มูลค่าโครงการ 195,642 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง (สนข.) มูลค่าโครงการ 39,406 ล้านบาท

4.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ (ทล.) มูลค่าโครงการ 80,060 ล้านบาท 5.โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – ระยอง (รฟท.) มูลค่าโครงการ 152,488 ล้านบาท และ 6.โครงการรถไฟฟ้าสายเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  ถึงกรอบวงเงินลงทุนที่ชัดเจน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ยังรับทราบความคืบหน้าโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 5 โครงการในปัจจุบัน ซึ่งมีผลการดำเนินการดังนี้ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ) 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) และ3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) ได้ดำเนินการตามขั้นตอนภายใต้มาตรการ PPP Fast Track เรียบร้อยแล้ว

4.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และ 5.สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี กรมทางหลวงได้ปรับปรุงรายงานผลการศึกษาให้สอดคล้องกับความชัดเจนด้านกฎหมายเพิ่มเติมและเสนอโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่าจะส่งกลับมายัง สคร. อีกครั้งภายในเดือนเมษายน 2560

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบสรุปประเด็นจากการรับฟังปัญหาและข้อจำกัดฯ รวมถึงข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการทบทวนพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนกฎหมายให้สามารถส่งเสริมการร่วมลงทุนกับเอกชนมากขึ้นได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้อนุมัติให้โครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุบริเวณถนนสุขุมวิท ตำบลบางพระและตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของกรมธนารักษ์ ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล ตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ตามข้อเสนอของกรมธนารักษ์ และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการยกเว้นให้โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะใช้ดำเนินโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานครสามารถคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะสามารถร่าง TOR และเปิดประมูล 6 โครงการดังกล่าวที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาทได้ ซึ่งเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่น ซึ่งจะทำให้เกิดการพูดในแง่ลบได้ยากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีข่าวในแง่ลบซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของไทยที่ว่าบริษัท Alibaba Group จำกัด จากประเทศจีน จะไม่มาลงทุนในไทย ซึ่งไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงมีการพูดในเชิงลบแบบนี้ เพราะ Alibaba เตรียมแผนการลงทุนไว้หลายประเทศ ซึ่งไทยเองก็อยู่ในแผนด้วยเช่นกันที่จะมีการสร้าง e-Commerce ขนาดใหญ่ และอาจจะใหญ่กว่าที่มาเลเซียด้วยซ้ำ

“ได้มีการหารือกับอาลีบาบาผ่านตัวแทน ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเขายังลงทุนในไทยแน่นอน เป็นความจริงที่ออกมาชัดเจน มันสะท้อนว่าต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นกับไทยเสมอ แต่ทำไมในไทยเองยังมีข่าวเชิงลบออกมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทุกฝ่ายทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะกฤษฎีกา ที่พยายามทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อให้กฎหมายต่างๆ ออกมาโดยเร็วที่สุด” นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อกฎหมายที่ผ่านกฤษฎีกาทั้งหมด คาดว่าจะจบภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งจะทันกับที่ธนาคารโลก (World Bank) จะเข้ามาทำการสำรวจ Doing Business ในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้มากขึ้น

Back to top button