TISCO เด่นอย่างบูรณาการ

ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO อันสวยงามสามารถปิดรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารจัดการจากยุคของนาง อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ที่ลอยตัวขึ้นไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผลัดมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่นาย สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ขึ้นมาแทน ได้อย่าง “ไร้รอยตะเข็บ”


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO อันสวยงามสามารถปิดรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารจัดการจากยุคของนาง อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ที่ลอยตัวขึ้นไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผลัดมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่นาย สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ขึ้นมาแทน ได้อย่าง “ไร้รอยตะเข็บ”

ความสามารถทำกำไรสุทธิที่โดดเด่น แม้ว่ารายได้จากสินเชื่อของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์จะหดตัวลง ไม่ได้เป็นปัจจัยถ่วงรั้งแม้แต่น้อย เพราะ TISCO นั้น สามารถสร้างรายได้หลากหลายช่องทางที่ยืดหยุ่นได้ดี ทดแทนการขาดหายไปของบางส่วนได้ อย่างน้อยก็ชี้ว่า ปริมาณ ไม่ได้สำคัญเท่ากับคุณภาพ

คำชี้แนะให้ซื้อที่ดังขรมจากบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนัก พากันให้ราคาเป้าหมายต่างกันระหว่าง 75-85 บาท ไม่ใช่ประเด็นใหญ่โต เพราะเป็นแค่ความต่างเฉพาะตัวเลข แต่เนื้อหามุ่งไปทิศทางเดียวกันหมด

ข้อสรุปสั้นๆ ที่ได้ใจความคือ …แข็งแกร่งทั้งกำไรและคุณภาพหนี้…บอกทุกอย่างไว้เกือบหมด

หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่า กำไรสุดสวยในไตรมาสแรกปีนี้ของ TISCO ที่เติบโตเกินคาด 1.49 พันล้านบาท โตกว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2559  ประมาณ 15.3% และเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เติบโตมากกว่า 18.8%  สูงกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายคาดเดากันเอาไว้ผิดๆ ถูกๆ

ความแข็งแกร่งของกำไร ไม่ได้มาจากด้านเดียวชนิดเอียงกะเท่เร่ แต่มาจากหลายด้านประดังพร้อมๆ กันคือ

  • การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (รายได้ค่าธรรมเนียม, รายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ รายได้จากงาน IB และรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุน)
  • ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญลดลง เพราะคุม NPLs ได้ดีขึ้นทำให้ต้นทุนลดลงไป 3% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการที่สัดส่วน NPL ในสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อธุรกิจ ลดลงสู่ 2.37% จาก 2.54% ในไตรมาสก่อน ซึ่งถือเป็นต้นทุนต่ำที่สุดในรอบ 9 ไตรมาสเนื่องจากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อนหน้าแล้ว (แม้จะมีปัญหาเรื่องของ SSI มารบกวนบ้างแต่ก็จบลงไปแล้ว) และการเพิ่มจำนวนพอร์ตสินเชื่ออเนกประสงค์ (รายย่อย) ใหญ่ขึ้น  ทำให้ต้นทุนการเงินลดลงต่อเนื่อง
  • ต้นทุนการเงินลดลงต่อเนื่องอีก ทำให้ NIM ดีขึ้น และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เติบโตดีมากถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนทั้งจากธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน และมีค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาการเงินจากดีล IPO ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำรองลดลงมากถึง 23% จากปีก่อน
  • แม้สินเชื่อหดตัวแรงในทุกกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากยังมียอดจ่ายชำระคืนที่สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ แต่คุณภาพสินเชื่อดีขึ้นมาก สะท้อนถึงความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ทำให้ฐานกำไรจะเป็นสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง และกำไรรายปีในปีหน้า (2561) จะยิ่งสูงขึ้นอีก ด้วยผลของการรับรู้รายได้เต็มปี ทำให้ ROE ยังอยู่ระดับสูงสุดในกลุ่มธนาคารที่ 5% และอาจมี Upside มากกว่านี้ หากการตั้งสำรองต่ำกว่าคาด

ดีไปหมดอย่างนี้ จึงไม่น่าแปลกที่จะมีคำแนะนำเชิงบวกทั่วหน้า ในทำนองว่า ไตรมาสแรกที่ว่าดี ยังไม่ดีที่สุด เพราะจะดียิ่งขึ้นไปอีกในไตรมาสที่สอง และครึ่งหลังของปี ตลอดลามไปถึงปี 2561 …โดยเฉพาะหลังจากการเข้าไปซื้อพอร์ตสินเชื่อของรายย่อยจากธนาคารต่างชาติ สแตนชาร์ดฯ หรือ  STNB มาบริหารเพิ่มเติม

การประเมินว่า กำไรสุทธิสิ้นปี 2560 ของ TISCO น่าจะมากกว่า  6 พันลบ. หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่….อย่างที่ทราบกันดี ราคาหุ้นจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่…ยังยากเกินจะคาดเดา

เหตุก็อย่างที่ทราบกันดีว่า..หุ้นตัวนี้ เชียร์ไม่ค่อยขึ้น…แถมบางครั้งยังชอบปราบเซียน วิ่งสวนทางกับคำแนะนำเสียอีก…ก็เคยเห็นอยู่บ่อยๆ

“อิ อิ อิ”

Back to top button