CPF สร้างฝายชะลอน้ำ

CPF เดินหน้าโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ผู้บริหารและพนักงานจิตอาสากว่า 600 คน สานพลังสร้างฝายชะลอน้ำและเพาะกล้าไม้ เตรียมปลูกป่าภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน


นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส  ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นสานต่อภารกิจความยั่งยืนในเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม  “ดินน้ำป่าคงอยู่” โดยมีเป้าหมายปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ดำเนิน “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ภายใต้โครงการเขาพระยาเดินธง “ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยร่วมกับกรมป่าไม้  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและกำหนดกิจกรรมที่สอดคล้องตามกรอบแผนงาน

ในครั้งนี้ผู้บริหารและพนักงานจิตอาสากว่า 600 คน  ร่วมแรงร่วมใจลงพื้นที่เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมรวม 20 ตัว  และเพาะกล้าไม้ เตรียมปลูกป่าในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน  หลังจากที่ทำกิจกรรมครั้งแรกไปเมื่อเดือนมกราคม 2560

สำหรับความคืบหน้าจากการทำกิจกรรมครั้งแรก เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ได้สร้างฝายชะลอน้ำ  4 ตัว  เป็นฝายกึ่งถาวร 1 ตัว และฝายผสมผสาน 3 ตัว มีการวางระบบน้ำหยดในแปลงปลูก 57 ไร่ โดยใช้ถังขนาด 1,000 ลิตร เป็นที่พักน้ำ และใช้ศักยภาพของทีมวิศวกรซีพีเอฟมาซ่อมบำรุงระบบน้ำและแผงโซล่าเซลล์ เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ขึ้นถังพักน้ำ  ผลจากระบบน้ำหยด มีการติดตาม ดูแลอย่างต่อเนื่อง มีการกำจัดวัชพืช ในแปลงปลูก 57 ไร่ ทำให้ต้นไม้มีอัตรารอดสูงถึง 90 %  การเพาะกล้าไม้ จำนวน 200,000 กล้า ซึ่งได้นำมาจัดเรียงไว้เรือนเพาะชำพร้อมสำหรับการปลูกในช่วงฤดูฝน  ส่วนของการก่อสร้างอาคารสำนักงาน  ระบบสุขาภิบาล  มีความคืบหน้า 80 %

การดำเนินโครงการฯดังกล่าว  คาดหวังว่าพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กับลุ่มน้ำป่าสัก  ลดปริมาณน้ำไหลหลากในฤดูฝนและเพิ่มปริมาณน้ำไหลในฤดูแล้ง  ลดปริมาณตะกอนที่ไหลลงแม่น้ำลำธารและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์   ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ โดยการกักเก็บไว้ในต้นไม้ อินทรียวัตถุและในดิน   ลดและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก  เป็นแหล่งพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยให้กับชุมชน  รวมทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กับเยาวชน ประชาชน  เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ  และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่อยู่โดยรอบ

 

Back to top button