ขาขึ้นแบบไทยๆ

อ่านคำชี้แจงของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยประกอบงบไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีกำไรต่ำกว่าคาด (ไม่นับกรณีของธนาคารบางแห่งเช่น KBANK หรือ TISCO) ต่ำกว่าคาด มีความน่าสนใจ ตรงที่ส่วนใหญ่ยอมรับโดยดุษณีว่า ภาคการธนาคารในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เงินให้สินเชื่อขยายตัวต่ำกว่าปกติเกินคาด เทียบกับระยะเดียวกันปี 2559


พลวัต ปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

อ่านคำชี้แจงของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยประกอบงบไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีกำไรต่ำกว่าคาด (ไม่นับกรณีของธนาคารบางแห่งเช่น KBANK หรือ TISCO) ต่ำกว่าคาด มีความน่าสนใจ ตรงที่ส่วนใหญ่ยอมรับโดยดุษณีว่า ภาคการธนาคารในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เงินให้สินเชื่อขยายตัวต่ำกว่าปกติเกินคาด เทียบกับระยะเดียวกันปี 2559

ที่น่าพิจารณาคือ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนของลูกค้า ขณะที่สินเชื่อเพื่อลงทุนยังปรับลดลง เพราะการลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ และธนาคารพาณิชย์จำต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง แม้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีเสถียรภาพ เนื่องจากมีเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง รองรับการแปรปรวนได้ดี

คำชี้แจงดังกล่าว ดูช่างขัดแย้งกับความพยายามสร้างภาพของทีมงานเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้ที่กำลังย้ำคิดย้ำทำว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจก็คือ เริ่มมีการตั้งคำถามแบบเกรงอกเกรงใจมากเป็นพิเศษจากคนที่เคยร่วมช่วยงานของรัฐบาลชุดนี้มาแล้วมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่ใจต่ออนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกวัน

บาคนที่เสียงดังหน่อย ถึงกับยกเอากรณีของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เป็นตัวอย่างที่ออกมาประกาศว่า คนจีนต้องอดทนกันหน่อย เพราะอัตราเติบโตเราจะได้แค่ 6.5% ไม่พรวดพราดได้เหมือนก่อน ต้องปรับตัวปรับโครงสร้าง ทุกคนต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพกันแล้วเทียบเคียงกับคำโอ่อวดของคนในทีมงานรับบาลที่พยายามป่าวร้องว่า ขอให้คนไทยสบายใจได้แล้ว เพราะไทยจะเติบโตได้เกิน 3% แน่นอน โดยขอให้มั่นใจในรัฐบาลและในทีมเศรษฐกิจที่จะเนรมิตความรุ่งเรืองมาให้

ข้อสงสัยในอนาคตเช่นนี้ เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกในระยะเฉพาะหน้า กำลังอยู่ในช่วงพักของขาขึ้นชั่วคราวพอดี

ปีนี้ โลกเริ่มขยับรับมือสู่ทิศทางขาขึ้นอย่างลุ่มๆดอนๆ แต่เพราะทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ เฟด ยังคงส่งสัญญาณขัดแย้งกันเอง (อาจจะเพราะความไม่คุ้นเคยกัน) หากรากฐานที่ดัชนีเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ดีขึ้นต่อเนื่อง ก็ยังคงเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ ไม่มีสะดุด

การที่ทิศทางดอกเบี้ยของโลกเริ่มผงกตัวยกระดับสูงขึ้น ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปกระเตื้องขึ้นมาก หลังจากธนาคารกลางยุโรปได้ส่งสัญญาณล่วงหน้ามาแล้วว่า อาจจะลดมาตรการ QE ลงตลอดปีนี้เป็นระยะๆ เพราะมีเค้าลางว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

สถานการณ์ใหม่อย่างนี้ อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมที่หมกมุ่นกับข่าวการใช้อำนาจรัฐทำลายล้าง “สงฆ์นอกรีต” อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่มีความหมายที่กระทบต่อการไหลเข้าและไหลออกของฟันด์โฟลว์ที่รุนแรงอย่างมากของตลาดทุนไทยทั้งตลาดตราสารหนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดหุ้น

ความย้อนแย้งกันของตลาดเงินโลกกับตลาดเงินของไทยที่ธนาคารพาณิชย์ยังหมกมุ่นกับปัญหา NPLs เรื้อรัง กับขาขึ้นของตลาดโลก ทำให้หลายคนมองย้อนกลับไปในช่วงเศรษฐกิจไทยเติบโตรุนแรง ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980-1996 อันเป็นช่วง “ยุคทอง” ที่จะไม่เกิดขึ้นอีก จนช่วงนั้นไทยถูกเรียกว่าเป็น “เสือตัวที่ห้าของเอเชีย” ก่อนจะจบลงที่ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 เข้าไป

หลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีการฟื้นตัวช่วงสั้นๆ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยหดลงเรื่อยๆต่อเนื่อง จนเริ่มมีคนตั้ง ได้ฉายาว่าคนป่วยร่วมสมัยของเอเชีย เพราะติดใน “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” ที่แก้ไม่ตก

การเติบโตที่ต่ำ แถมบางปีก็สะดุดติดลบ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่หาทางออกไม่เจอจนถึงปัจจุบัน กระทั่งถูกหลายชาติในเอเชียแซงหน้าขึ้นไป โดยเฉพาะจีนที่มีรายได้ประชากรต่อหัวที่ระดับ 8,028 ดอลลาร์ เทียบกับไทยที่อยู่แค่ 5,815 ดอลลาร์

คำอธิบายที่สมเหตุสมผลของการเติบโตที่ล่าช้าและถูกแซงหน้าที่พึงรับฟังมากที่สุดคือ ความล้มเหลวของไทยในการปรับโครงสร้างชิงสถาบันเพื่อการเปลี่ยนแลงสู่อนาคต การเปลี่ยนแปลงใดๆ ล้วนไม่สามารถตอบสนองโจทย์ว่าด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากร เพิ่มผลิตภาพทางการผลิต การพยายามของรับบาลทั้งมาจากการเลือกตั้งหรือรับประหารด้วยการทุ่มอัดฉีดทรัพยากรภาครัฐอย่างมะงุมมะงาหรา เป็นการล้างผลาญแบบสูญเปล่าเสียมาก

โครงสร้างของสังคมและเศรษฐกิจ และระบบคิดอนุรักษนิยมเกินขีดจำกัด สร้าง “กับดักใหม่แห่งการเติบโต” ที่สร้างเงื่อนไขให้กับสิ่งที่ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรับมนตรีคลังสหรัฐเคยระบุว่าเป็นวัฒนธรรมแบบ “ทุนนิยมที่มีรากฐานการต่อรอง” ( Deal Base Capitalism) ไม่ใช่ “ทุนนิยมที่มีรากฐานจากหลักนิติธรรม” (Rule&Law Base Capitalism) (ซึ่งก็คงจะมีคนบางคนตะแบงตีความกันไปต่างๆนานาอย่างคับแคบ)

กับดักนี้จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะยิ่งทำให้ สังคมไทยถูกดึงเข้าสู่หลุมดำของปัญหาที่แก้ไขได้ยากอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะก้าวข้ามได้ หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะยิ่งทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ มีความซับซ้อนมากกว่าปกติ เพราตลดาอาจจะอยู่ในสภาพ “ขาขึ้นแบบไทยๆ” ที่ยังไม่รู้จะมีความหายว่าอย่างไรดี

Back to top button