SUPER ข่าวดีลดหนี้ท่วม

ในที่สุด ข่าวดีที่รอคอยของบรรดา “ชาวดอย” ที่ติดหุ้นบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER, มานานนับเดือน หรือหลายเดือน หรือ นับปี ...ก็เกิดขึ้นจนได้


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

ในที่สุด ข่าวดีที่รอคอยของบรรดา “ชาวดอย” ที่ติดหุ้นบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER, มานานนับเดือน หรือหลายเดือน หรือ นับปี …ก็เกิดขึ้นจนได้

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ ของ SUPER ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 เมษายน ได้มีมติอนุมัติแผนการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ IFF โดยแต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) จัดตั้งกองทุนรวม มูลค่าประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การรุกธุรกิจพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบของ  SUPER

การตั้งกองทุนดังกล่าว…ซึ่งน่าจะลงเอยด้วยให้ บลจ.บัวหลวง จำกัด เป็นผู้บริหาร ….คาดว่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนในครั้งหลังของปีนี้หลังจากยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เร็วๆ นี้ และเสนอขายกองทุนได้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจ

กระบวนการตั้งกองทุน ในเบื้องต้นจะใช้ทรัพย์สินในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นำร่องขายผ่านกองทุน  100-120 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ไปขยายการลงทุนในอนาคต

ข่าวดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นSUPER วิ่งกระฉูดเมื่อวันพุธที่ผ่านมาแรงทีเดียว เพราะถือเป็นการปลดล็อกปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและภาระหนี้ของ SUPER ได้เสียที หลังจากล้มเหลวกับการแปลงสภาพวอร์แรนต์มาเป็นหุ้นสามัญเพราะราคาหุ้นต่ำเกินไปในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา…เพราะไม่มีคนใช้สิทธิ์สำหรับค่าแปลงตั้ง 4.00 บาท

การปลดล็อกเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งเพราะหากดูแค่ตัวเลขงบกำไรขาดทุนสิ้นงวดปี 2559 ก็เกิดอาการขนแขนสแตนด์อัพ…เพราตัวเลขมันบ่งบอกชัดว่า แม้จะกลับมาทำกำไรได้งดงาม

จากเดิมที่ SUPER เคยเจอวิบากกรรม ขาดทุน 817.70 ล้านบาทในปี 2558 มาเป็นกำไรสุทธิ 1,339.91 ล้านบาท หรือเติบโต 164% จากรายได้รวม 3,611.60 ล้านบาท ก็ยังน้อยอยู่ดี เพราะอย่าที่ทราบกันดีว่า….โครงการของ SUPER นั้นมียิบย่อย รวมแล้วเฉพาะที่ส่งไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้ว 96 โครงการ แต่มีการส่งไฟฟ้าเข้าระบบไม่พร้อมกันทำให้รายได้ที่รับรู้กะปริบกะปรอยหรือลักลั่นไม่เต็มปี แต่อัตรากำไรสุทธิที่ต่ำกว่าแค่ 9.5% นี่สิ เป็นเครื่องหมายคำถามที่ค้างคาใจ

สาระสำคัญอยู่ที่ตัวเลขในงบการเงินและในคำสารภาพอย่างเป็นทางการของ ท่านประธานจอมทรัพย์ เองเมื่อรายงานในงวดสิ้นปี 2559 ระบุว่าว่า ต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยจ่ายที่หนักหนาสาหัส โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา มากถึง 1,201.08 ล้านบาท มาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมของสถาบันการเงิน”…ซึ่งไม่ใคร  BBL นั่นเอง

ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปี 2559  คิดเป็น 33% ของ รายได้รวมเลยทีเดียว แต่หากคิดเป็นเดือนก็คงตกเดือนละ 100 ล้านบาท หรือวันละ 3.3 ล้านบาท

หากต้นทุนการเงินจากภาระดอกเบี้ยจ่ายหนี้เงินกู้ส่วนนี้หายไป กำไรสุทธิของ SUPER ในปี 2559 ควรจะอยู่ที่ 1,723.29 ล้านบาท …..ผู้บริหารของ SUPER ก็คงไม่ต้องดิ้นรนปวดตับกับปัญหา “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ต่อเนื่อง

ภาระหนี้ที่ท่วมตัวจากยอดหนี้สินรวมล่าสุดสิ้นปี 2559 มากถึง 3.3 หมื่นล้าน หรือ 2.7 เท่าของส่วนผู้ถือหุ้น ในขณะที่ค่าพี/อีอยู่ที่ 112 เท่า ทำให้ SUPER กลายเป็นกิจการที่มีรายได้และกำไรจากการส่งไฟฟ้าเข้าระบบต่ำว่าคาด ราคาหุ้นในกระดานถึงพร้อมที่จะลดลงได้เสมอ …เพราะนักลงทุนกลัวว่า ดอกเบี้ยจ่ายจะกินตัวเสียหมด

ร้ายไปกว่านั้น แผนรุกเข้าไปในต่างประเทศของ SUPER อีกหลายปีข้างหน้า ทั้งเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 1-2 แห่งในญี่ปุ่นและจีน รวมทั้งการเตรียมขยายการลงทุนในพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ภาระหนักอึ้งในปัจจุบัน และอนาคตที่วาดฝันไปให้ถึง ล้วนมีส่วนทำให้ความต้องการเงินสด และสภาพคล่องที่เพียงพอ กลายเป็นความจำเป็น ไม่ใช่แค่ทางเลือก

ค่า current ratio เมื่อสิ้นงวดปี 2559 ที่ถึงขั้นฝืดเคือง 0.18 เท่า ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เหตุใด การเร่งตั้งกองทุนขนาด 12,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขายทรัพย์สินออกจากบริษัท โดยมีเป้าหมายทั้งลดหนี้ และ เสริมสภาพคล่องทางการเงิน มีความสำคับอันดันแรก

เหตุผล คือ หากไม่สามารถปลดหนี้เก่าให้ลดลงได้ การสร้างหนี้ใหม่ก็ยากจะเกิดขึ้น

หากปลดล็อกนี้ได้สำเร็จ แผนการสำหรับในปี 2560 ที่ SUPER ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 3,802 ล้านบาท จากการขยายการลงทุนออกไปทุกรูปแบบ รวมทั้งการเข้าร่วมประมูลงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จากหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรส่วนที่เหลือ และการเข้าลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ซึง่มีส่วนทำให้การขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตกว่า 762 เมกะวัตต์จากที่มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ประมาณ 800 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ไม่นับการมีรายได้เพิ่มเติมจากแผนนำบริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด หรือ SSE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เข้าระดมทุนในตลาด ด้วย

ประเด็นที่ต้องติดตามกัน ก็คือ ที่ปรึกษาการเงินใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ และ บลจ.บัวหลวง โดยผู้บริหารระดับ “ขาใหญ่” จะสามารถเร่งทำให้การตั้งกองทุน IFF บรรลุผลเร็วแค่ไหน

ถ้าเร็ว โอกาสจะเห็นราคาหุ้น SUPER วิ่งไปเหนือ 2.00 บาท ก็อาจจะเป็นเป้าหมาย ที่ต่ำเกินไป

แต่ถ้าช้าเพราะใจเย็นเกิน…ราคาหุ้นที่ 1.50 บาท ก็อาจจะสูงเกินไป

อิ อิ อิ

Back to top button