ข่าวลือลบ

เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดในลักษณะแกว่งตัวอยู่ในกรอบที่จำกัด แต่ระหว่างการซื้อขายในวันนี้ ปรากฏว่า ราคาคาหุ้นสำคัญหลายรายการถูกกองทุนในประเทศสวมบทผู้ร้ายทุ่มขายทิ้งออกมา ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน แต่ทุกสาเหตุล้วนมีแต่ข่าวลือที่หาคำยืนยันไม่ได้


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดในลักษณะแกว่งตัวอยู่ในกรอบที่จำกัด แต่ระหว่างการซื้อขายในวันนี้ ปรากฏว่า ราคาคาหุ้นสำคัญหลายรายการถูกกองทุนในประเทศสวมบทผู้ร้ายทุ่มขายทิ้งออกมา ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน แต่ทุกสาเหตุล้วนมีแต่ข่าวลือที่หาคำยืนยันไม่ได้

หุ้น BANPU และถ่านหินอื่นๆ ถูกข่าวลือของจีนเข้มงวดเรื่องมลพิษทางอากาศ ที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และกดราคาถ่านหินลง พร้อมกับคำแนะนำขายทิ้ง กลายเป็นปัจจัยลบ

หุ้น BEAUTY ถูกข่าวลือว่าจะเสียภาษี (อะไรก็ไม่รู้) เพิ่มเติม พร้อมกับคำแนะนำว่าถ้าหลุดใต้  10.00 บาทให้ขายทิ้งได้ เป็นปัจจัยถล่มราคารุนแรง แม้ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารจะออกมายืนยันว่าไม่มีการขายออกมา และพื้นฐานยังเดินหน้าต่อ ก็ช่วยอะไรไม่ได้

อารมณ์อยากขายที่ท่วมตลาดหุ้นไทยวานนี้ ยังมีหุ้นของกลุ่มธนาคารที่มีควันหลงตกค้าง นักลงทุนเกิดความกังวลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมของตลาดออกมามีความเปราะบางกว่าตลาดอื่นภูมิภาคที่ส่วนใหญ่อยู่ในแดนบวก ระหว่างการรอติดตามแผนปฏิรูปภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ คืนวันพุธนี้

ข่าวลือในตลาดหุ้น มีฐานะเป็น “สายลมมลพิษ” ที่มักจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และข่าวลือที่ได้ผลรุนรง มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ไร้ข่าวดี และอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดเกิดความลังเลใจ เนื่องจากราคาหุ้นหลักของตลาดที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อน เกิดสภาพไปต่อไมได้ ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน เช่น เต็มมูลค่าแล้ว หรือ เปลี่ยนพื้นฐานที่มีนัยสำคัญหรือ อื่นๆ

ข่าวลือที่มีผลข้างเคียงและโดยตรงรุนแรง พร้อมจะกลายเป็นปรากฏการณ์หลักของฉากหน้าสังคม เพราะการต่อสู้ระหว่างมายาและข้อเท็จจริงสับสนปนเปกันไปอย่างผิดเพี้ยน และถูกโหมกระพือเสียจนยากจะแยกแยะออกได้ว่า สิ่งใดถูกหรือผิด

การลดทอนความสามารถที่จะแยกแยะมายาจากข้อเท็จจริง มักจะเกิดขึ้นอย่างความสอดคล้องกับทฤษฎีของชุมปีเตอร์อย่างมาก เพราะข่าวลือและข้อมูลเท็จที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น เต็มไปด้วยรังสีอำมหิตอย่างชัดเจน

โยเซฟ ชุมปีเตอร์ นักคิดชาวเยอรมนีชื่อดัง ปลายคริสต์ศตวรรษ 19 ได้นำเสนอทฤษฎีที่โด่งดังที่จดจำกันมาถึงปัจจุบันคือ การทำลายอย่างสร้างสรรค์

ความหมายของทฤษฎีคือเมื่อระบอบทุนนิยมภายใต้เทคโนโลยีการจัดการของยุคหนึ่งดำเนินมาถึงทางตัน ก็จะเกิดเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ ด้วยกระบวนการที่มีต้นทุนต่ำกว่า สะดวกกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่า เป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีการผลิตรุ่นเก่าที่ตกยุค ถูกทำลายเร็วขึ้น จึงถือเป็นกระบวนการทำลายอย่างสร้างสรรค์

ห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้ ปัจจัยหลักที่เคยโดดเด่นมาแต่ยุคก่อน จะผิดเพี้ยนใช้การไม่ได้ดีอีกต่อไป และมีความปั่นป่วนรุนแรงที่ผิวนอกเกิดขึ้น

นักคิดฝรั่งเศส โบดริยาร์ด นิยมคุณสมบัติของข่าวลือ ว่า เป็นความจริงที่เกินเลย ซึ่งหากพิจารณาโดยใช้มาตรฐานที่ฝันเฟื่องแบบจิตนิยมของไลป์นิซแล้ว จะพบว่า ความเลวร้ายในระดับ “สิ่งดีที่สุดในโลกที่เป็นไปได้” (หมายถึงอะไรที่เกิดเลวร้ายอย่างสุดๆ นั้น เอาเข้าจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่จุดเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขแวดล้อมในขณะนั้น) กำลังย่างกรายเข้ามาจนใกล้จะถึงเวลาที่บังเกิดขึ้นแล้ว

นักสร้างข่าวลือ มักจะช่ำชองกับพฤติกรรม “คั้นน้ำส้ม” กันอย่างขนานใหญ่ ด้วยการผลิตข่าวลือปนข่าวจริงเพื่อสร้างความสับสนให้กับสถานการณ์

ในตลาดเก็งกำไรนั้น ข่าวลือมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบแหล่งกำเนิด ซึ่งทำให้บรรดานักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์บางแห่ง พากันปริวิตกต้องหาทางสร้างปลอดภัยให้กับพอร์ตลงทุนด้วยวิธีการง่ายที่สุดคือ การขายทิ้งเพื่อตัดขาดทุน

เมื่อใดที่ตลาดถูกข่าวลือ พร้อมกับชุดคำอธิบายหรือข้อสรุปที่ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องที่แพร่กระจายจากคนสู่คนโดยมีจุดมุ่งหมายทางลบแอบแฝงอยู่ กระบวนการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือ การตัดทอนข้อมูลข่าวสาร ย่อมสอดรับกับเจตนาของผู้ปล่อยข่าวลือ

นักจิตวิทยาอเมริกัน โรเบอร์ต แน็พ วิจัยยอย่างเป็นระบบถึงพฤติกรรม “ข่าวลือ” ในทุกสังคม รวมทั้งในตลาดเก็งกำไรว่า เกิดจากสมมติฐานเกี่ยวกับประเภทของข่าวลือ 3 อย่างคือ 1) เป็นข้อมูลที่ถ่ายทอดจากปากสู่ปาก ประเภท “รู้แล้วอย่าบอกใคร” 2) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของบุคคล หรือ สถานการณ์แวดล้อม 3) แสดงออกโดยอ้างว่าเพื่อความหวังดีต่อส่วนรวม

ชนิดของข่าวลือสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ 1) ข่าวชวนฝันหวาน (pipe dream rumors) 2) ข่าวลือชวนสยอง (bogie rumors) 3) ข่าวลือตอกลิ่ม (wedge-driving rumors)

นักทฤษฎีการสื่อสารโดยทั่วไปยอมรับว่า วิธีการแก้ไขหรือต่อต้านข่าวลือนั้น กระทำได้ด้วยการสนำเสนอ “ข่าวจริง” เท่านั้น ก็ย่อมหมายความว่า ต้องยอมรับว่า จะต้องมีความเสียหายจากข่าวลือเกิดขึ้นเสียก่อน ส่วนความเสียหายจะมากหรือน้อย ขึ้นกับแต่ละบุคคลว่าจะแบกรับไว้ได้มากแค่ไหน

นักลงทุนที่จ่ายค่าโง่ไปวานนี้จากมรสุมข่าวลือ คงตระหนักแก่ใจดี

Back to top button