สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 13 พ.ย.58


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 122.73 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 122.65 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0753 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0787 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,382.46 จุด ลดลง 1.83 จุด หรือ 0.13% มูลค่าการซื้อขาย 43,865.30 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,468.07 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย ณ วันที่ 6 พ.ย.58 อยู่ที่ 156.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวันที่ 30 ต.ค.58 ที่ 158.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย ณ วันที่ 6 พ.ย.58 อยู่ที่ 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 30 ต.ค.58 อยู่ที่ 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินบาท ณ วันที่ 6 พ.ย.58 อยู่ที่ 5,567.4 พันล้านบาท จาก 5,634.6 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ต.ค.58

– กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ได้ปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน ต.ค.58 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการผลิตที่ลดลงในอิรักและซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้โอเปกผลิตน้ำมันได้ 31.38 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค.58 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.58 ที่ผลิตได้ 31.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยผลผลิตในเดือน ก.ย.58 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี

– กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ปรับเพิ่มการประเมินผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.58 ในวันนี้ โดยระบุว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าการประเมินเบื้องต้นที่ระดับ 1.0%

– สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (Insee) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2558 ขยายตัว 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำนั้น ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และช่วยหนุนภาคธุรกิจให้เข้ามาลงทุนในฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน

-ธนาคารกลางมาเลเซีย เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2558 ขยายตัว 4.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2558 ที่ขยายตัว 4.9% เพราะได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอของอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและทั่วโลก ขณะที่ภาคการผลิตในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว 4.8% เทียบรายปี หลังจากที่ขยายตัวเพียง 4.2% ในไตรมาส 2 ส่วนภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของตัวเลข GDP นั้น ปรับตัวขึ้น 4.4% เมื่อเทียบรายปี เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 5% ในไตรมาสก่อนหน้า

– สถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เผยดัชนีเศรษฐกิจโลกของ Ifo ในไตรมาส 4 ปี 2558 ปรับตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยดัชนีบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจปรับลงจากระดับ 95.9 ในไตรมาส 3 สู่ระดับ 89.6 ในไตรมาสนี้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่  96.1 เป็นอย่างมาก โดยสภาพเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคย่ำแย่ลง ยกเว้นโอเชียเนียและเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งสภาพเศรษฐกิจยังคงทรงตัวที่ระดับต่ำ

– ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดย CME Group’s Fedwatch ระบุว่า โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.นั้นมีสูงถึง 70% เมื่อพิจารณาจากตลาดแรงงานที่มีความแข็งแกร่ง หลังจากที่ข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดเพิ่มขึ้นเกินคาด

– นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน(FETCO NIDA Investor Sentiment Index) เชื่อช่วง 3 เดือนข้างหน้าของนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) เนื่องมาจากความชัดเจนของนโยบายด้านเศรษฐกิจรัฐบาล แต่ยังมีปัจจัยฉุดจากสถานการณ์ต่างประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อย

– ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันนี้ เนื่องจากการร่วงลงของตลาดหุ้นโตเกียวได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 340 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.300% ลดลง 0.005% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือน ธ.ค.58 ปิดทรงตัวที่ระดับ 148.48 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า

– การประชุม G20 ที่ประเทศตุรกีในวันที่ 14-16 พ.ย.58 ผู้นำ G20 มีแนวโน้มที่จะหารือกันเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้เผชิญภาวะขาลง อันเป็นผลมาจาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และคาดว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับรับมือกับจำนวนผู้อพยพในประเทศในยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเด็นสถานการณ์รุนแรงที่เพิ่มขึ้น และประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (IS)

– สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงปรับตัวลดลง 22 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 10,038 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาเทียบเท่ากับ 1,087.24 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 2.38 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง

– กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G20 ดำเนินปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้อ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และการที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำเป็นเวลานานเช่นนี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยง นอกเหนือไปจากปัญหาความยากจนและอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่าจะรับได้ ทั้งนี้ IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.6% ในปี 2559 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 และคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า หลังจากชะลอตัวลงมาเป็นเวลานานถึง 5 ปี

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button