ประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศชาติ…

ประเด็นที่เรียกกระแสฮือฮาได้มากที่สุดในสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องอื่นใดไปไม่ได้นอกจากการประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์


–ตามกระแสโลก–

 

ประเด็นที่เรียกกระแสฮือฮาได้มากที่สุดในสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องอื่นใดไปไม่ได้นอกจากการประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์

ซึ่งผู้ชนะบนสังเวียนนี้ก็ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามออกมาแล้ว ประกอบด้วย

หนึ่ง “ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น” ซึ่งประมูลได้ใบอนุญาตชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 1710-1725 และ 1805-1820 เมกะเฮิรตซ์

สอง “แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค” สำหรับใบอนุญาตชุดที่ 2 ช่วงความถี่ 1725-1740 และ 1820-1835 เมกะเฮิรตซ์

ใบแรกนั้นเคาะกันขึ้นไปจบที่ 3.98 หมื่นล้านบาท ส่วนใบที่ 2 ปิดดีลกันที่ 4.10 หมื่นล้านบาท

พอรวมทั้ง 2 ใบ รัฐเก็บรายได้เข้ากระเป๋าได้เกิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้ง ยังถือเป็นการหักล้างข้อครหาก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง ที่ว่า ระบบใบอนุญาตจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ไม่ได้มากเท่าที่ควร

แล้วอีกอย่าง การเคาะราคากันถึง 86 ครั้ง ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า การประมูลครั้งนี้ไม่มีการฮั้วเกิดขึ้น อย่างแน่นอน

แต่ผลที่ออกมา ก็ถือว่าเป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะความจำเป็นของแต่ละค่ายมันบ่งบอกอยู่แล้วว่า ใครจะสู้สุดใจเพื่อให้ได้ใบที่ตนเองต้องการ

ยกตัวอย่างทรู สิ่งที่จำเป็น ณ ขณะนี้คือคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น เพราะต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการตามบริเวณพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการสูง

ขณะที่เอไอเอส ต้องการใบใดใบหนึ่งก็ได้ เปรียบดังหลังชนฝาชนิดแพ้ไม่ได้ เพราะสัมปทานดั้งเดิมของตนเองนั้นหมดลงแล้ว

ส่วนที่เหลืออยู่ในมือ ก็มีเพียงแค่คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ความกว้าง 15 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการ 37 ล้านเลขหมาย อย่างแน่นอน

ฟากดีแทคเอง พอผลออกมาถึงกับร้องอ๋อ ว่าทำไมถึงเผ่นแน่บตั้งแต่การเคาะรอบที่ 6 ก็ราคามันขึ้นสูงไปเรื่อยๆ

แถมตัวเองยังมีคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ในมืออยู่แล้วจนถึงปี 2561 ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องควักเงินออกมาสู้หลายหมื่นล้านบาท

ส่วนในรายของจัสมิน ก็ถือว่าสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างมาก เพราะยืนหยัดสู้จนถึงโค้งสุดท้ายที่ราคา 3.90 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้มักจะถูกดูแคลนอยู่เสมอ

ทีนี้ มาถึงประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า ราคาระดับนี้แพงไปหรือเปล่า?? คุ้มเหรอ??

ผมว่า ไม่แพงครับ!! ลองหารออกมาดูเป็นรายปีตามอายุของใบอนุญาตแล้วตกปีละ 2 พันกว่าล้านบาทเอง

เทียบกับยุคที่เป็นระบบสัมปทาน ผู้ให้บริการต้องจ่ายปีหนึ่งเป็นหมื่นล้านบาท มิหนำซ้ำผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ยังต้องมาแบกรับภาระในรูปของค่าใช้บริการที่แพงขึ้นอีกด้วย

แถมเงินที่เอกชนต้องจ่ายในยุคนั้น กว่าจะถึงมือรัฐก็เหลืออยู่แค่ไม่กี่พันล้านบาท เพราะต้องเอาไปอุดหนุนหน่วยงานที่ได้สิทธิครอบครองคลื่น

ซึ่งครั้งนี้ คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ก็ประกาศลั่นแล้วว่า ในข้อกำหนด TOR นั้นระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า

อัตราค่าบริการประเภทเสียงจะต้องถูกกว่า 69 สตางค์ต่อนาที ส่วนประเภทเดต้าจะต้องถูกกว่า 26 สตางค์ต่อเมกะไบต์ 

เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว การออกใบอนุญาต 4G ถือเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนเป็นอย่างยิ่ง

เริ่มตั้งแต่ภาครัฐที่สามารถจัดเก็บรายได้ ได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ผู้ให้บริการเอกชนก็มีต้นทุนที่น้อยลง จนไปถึงผู้ใช้บริการก็มีค่าใช้บริการที่ถูกลง

อีกทั้ง ยังนับเป็นการสอดคล้อง และทำให้เป้าหมายเรื่องเศรษฐกิจดิจิตัลเขยิบเข้าใกล้ความจริงขึ้นอีกก้าวหนึ่งด้วย

ถ้าจะมีใครเสียประโยชน์จากงานนี้ ก็หน่วยงานหรือสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ว่านั่นแหละ

แต่ก็นั่นแหละน้า วันที่ตัวเองได้ครอบครองสิทธิอยู่ก็ดันไม่รู้จักหาวิธีนำไปประยุกต์พัฒนาให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาได้จริงๆ

พอถึงเวลาคนอื่นจะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็ออกมาร้องแรกแหกกระเชอทวงสิทธินู่นสิทธินั่นอยู่ได้

แล้วแบบนี้จะให้เรียกว่าอะไรได้นอกจาก ทำตัวเป็นแมวอ้วน หรือ เสือนอนกิน

หวังว่า ผลการประมูลครั้งนี้จะอยู่รอดปลอดภัยได้โดยปราศจากการสกัดกั้นไปจนถึงวันประกาศผู้ชนะประมูลอย่างเป็นทางการ และก็ขอภาวนาว่า การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์จะเกิดขึ้นได้จริงตามกำหนดวันที่ 15 ธันวาคม

Back to top button