รองเท้าเขียว กลับมากู้ชื่อแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ในที่สุด…หลังจากยืดเยื้อยาวนานหลายปี...ก็ถึงเวลาที่ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ได้ฤกษ์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยมีพี่เลี้ยงใหญ่หลายราย คือ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บล.ฟินันซ่า จำกัด บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


ในที่สุด…หลังจากยืดเยื้อยาวนานหลายปี…ก็ถึงเวลาที่ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ได้ฤกษ์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยมีพี่เลี้ยงใหญ่หลายราย คือ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บล.ฟินันซ่า จำกัด บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีมูลค่าระดมทุนสูงที่สุดของปีนี้เลยทีเดียว

ก่อนระดมทุน SPRC มี กลุ่มเชฟรอน ถือหุ้น 64% และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือหุ้น 36% แต่หลังการระดมทุน PTT จะลดสัดส่วนเหลือ 0% ขณะที่เชฟรอนจะเหลือ 55%

มูลค่าระดมทุนที่สูงนี้ ไม่ได้มีเงินเข้ากระเป๋าที่ SPRC มากนักเพราะว่าในหุ้น 1,735.315 ล้านหุ้น ที่นำเอาออกมาขาย เป็นหุ้นใหม่ของ SPRC เพียงแค่ 518.55 ล้านหุ้นเท่านั้น ที่เหลืออีก 1,390.2966 ล้านหุ้น เป็นหุ้นสามัญเดิมของ PTT ร่วมด้วย

เหตุผลที่เอาหุ้นเก่าของ PTT มาขายร่วม ก็เพราะ PTT ต้องการล้างภาพที่ถูกโจมตีจากคนโง่ที่ (สอบตกประวัติศาสตร์ แต่…) อวดฉลาดว่า ทำการผูกขาดธุรกิจกลั่นน้ำมัน จึงอยากจะขายหุ้นทิ้ง แล้วก็รับอานิสงส์เป็นเงินสดมากถึง 1.25 หมื่นล้านบาทเศษ

ราคาที่กำหนดขายหุ้นละ 9.00 บาท ถามว่าแพงหรือไม่…สำหรับนักลงทุนถือว่าแพง เพราะจำนวนหุ้นที่เอามาขายมาก เสี่ยงที่จะหลุดจองได้ง่าย

ประโยคของการขายหุ้นที่ทำไห้นักลงทุนหลายคนงุนงง คือคำว่า “จัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 173,531,400 หุ้น” (ในส่วนของ 518.55 ล้านหุ้น) ซึ่งความจริงแล้วก็คือ กลยุทธ์การออกหุ้นที่เรียกว่า รองเท้าเขียว หรือ greenshoe option นั่นเอง

หุ้นที่หนัก และสตอรี่ไม่น่าสนใจ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องงัดกลยุทธ์ที่เคยเลิกใช้ไปนานเกือบ 10 ปีที่แล้ว หลังจากที่เริ่มมีการนำมาใช้หลังวิกฤตต้มยำกุ้งในสถานการณ์ที่ตลาดมีปัญหาหุ้นหลุดจองบ่อยครั้ง

หากจำได้ไม่ผิด ก็เครือ PTT นี่แหละที่ใช้กลยุทธ์นี้ก่อนใครเพื่อน เริ่มแต่ บริษัท ไทย โอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOC (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคัล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นั่นเอง)

กลยุทธ์ รองเท้าเขียว  ถือว่าเป็น “เพื่อนที่แสนดี” ของหุ้น IPO มาแต่ไหนแต่ไร เป็นกลยุทธ์ป้องกันการ ”หลุดจอง” ที่ดีที่สุด ซึ่งตลาดไหนๆ ในโลก ก็เคยมีการใช้ทั้งสิ้น แต่จะใช้แค่ไหน ขึ้นกับจังหวะเวลา

วิธีการทำแบบนี้ เริ่มที่อันเดอร์ไรเตอร์ หรือผู้จัดการจำหน่ายหุ้น จะตกลงกับบริษัทเจ้าของหุ้น (issuer) ที่จะออก IPO ว่า ต้องกันหุ้นส่วนหนึ่ง (ตามสูตรคือ 15%) เอาไว้ไห้อันเดอร์ไรเตอร์บริหาร เป็นระยะเวลาหนึ่ง (ไม่เกิน 1 เดือน)

หุ้น 15% คือหุ้นที่เรียกว่า “หุ้นส่วนเกิน” กว่าจำนวนหุ้นที่บริษัทต้องการขายจริง ท้ายสุดก็กลับไปสู่บริษัท เป็นการรับประกันราคาหุ้นว่าไม่หลุดราคาจองมากเกิน (ไม่ใช่ไม่หลุดจองเลย…อย่าเข้าใจผิด)

หุ้นรองเท้าเขียว จะติดสัญลักษณ์ ST ไว้ให้นักลงทุนสังเกตเบื้องต้น

ในทางทฤษฎี ในกรณีที่หุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดแล้วมีราคาสูงกว่าจอง ก็ถือว่าเลยตามเลย แต่ในทางตรงกันข้าม หากเกิดราคาตลาดต่ำกว่าราคาจอง อันเดอร์ไรเตอร์จะเข้าไปซื้อหุ้นส่วนเกินดังกล่าวในจำนวนไม่เกิน 15% นี้ เป็นการป้องกันความผันผวนของราคาหุ้น มีลักษณะของการรักษาระดับราคาของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย

กลยุทธ์ รองเท้าเขียว มี 3 ทางเลือกให้ทำคือ

–                    อันเดอร์ไรเตอร์ซื้อหุ้นเพื่อดันราคาก่อนที่ราคาจะวิ่งขึ้นเหนือจอง (partial greenshoe)

–                    อันเดอร์ไรเตอร์ซื้อหุ้นเมื่อราคาต่ำกว่าจองเท่านั้น เมื่อใดที่ราคาเหนือจองให้หยุด (full greenshoe)

–                    อันเดอร์ไรเตอร์ต้องขายหุ้นราคาเหนือจอง ที่ซื้อมาต่ำกว่าราคาจองคืนให้กับบริษัทเจ้าของหุ้นในราคาต้นทุน

ในทางปฏิบัติ ไม่มีใครบอกว่าจะใช้ทางเลือกไหน เอาเป็นว่า ถ้าแน่ใจว่าหุ้นเหนือจองแน่นอน ก็ไม่ต้องใช้กลยุทธ์นี้ให้ยุ่งยาก

หากมองย้อนกลับเป็นสถิติ จะเห็นว่ามีเหตุผลที่ต้องทำรองเท้าเขียว เพราะปีนี้มีหุ้นเข้าเทรดวันแรกหลุดจองไปทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ PLAT, GPSC, ORI และ TFG แล้วก็มีที่เท่ากับราคาจองวันแรก 1 รายการคือ SLP แต่หลุดจองในวันถัดมา โดยทั้ง 5 รายนี้ ไม่สามารถกลับมายืนเหนือจองได้เลย 4 ราย คือ PLAT, GPSC, SLP และ TFG

สำหรับกรณี GPSC ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ และเป็นเครือของ PTT แม้จะมีกำไรต่อเนื่อง แต่การที่ราคาหลุดจองยาวนานกว่า 6 เดือน ถือเป็นฝันร้ายอย่างหนึ่ง เพราะอาจจะชะล่าใจ ไม่ได้งัดเอากลยุทธ์รองเท้าเขียวมาใช้ ดังนั้น การรักษาภาพลักษณ์ เพื่อป้องกันการ ”หลุดจอง” ซ้ำซาก จึงมีเหตุผล

ว่าไปแล้ว สถิติผลประกอบการของ SPRC เองก็ชวนให้น่าเสียวไส้เช่นกัน เพราะในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 7.03 พันล้านดอลลาร์ และขาดทุนสุทธิ 194.1 ล้านดอลลาร์ หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.05 ดอลลาร์ ขณะที่ปี 2556 มีรายได้ 8.4 พันล้านดอลลาร์ กำไร 128.6 ล้านดอลลาร์ กำไรต่อหุ้น 0.03 ดอลลาร์ ก็ยิ่งทำให้ ”รองเท้าเขียว” มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น

                มาตรการรองเท้าเขียวของ SPRC จึงถือว่าทำให้นักล่าหุ้นจองที่เคยเข็ดขยาดมาจาก GPSC ใจชื้นมากกว่าปกติว่า จะไม่มีสถานการณ์ “ตามยะถากรรม” ซ้ำรอยเดิมของ GPSC อีก

                ส่วนจะได้ผลแค่ไหน…เดี๋ยวก็รู้

Back to top button