SET เสี่ยงลงต่อ รอจังหวะช้อนช่วงปรับฐานชู 14 หุ้นร้อน ครึ่งปีหลังแจ่ม รับเต็มบาทอ่อน

นักวิเคราะห์มองดัชนีหุ้นไทยยังคงผันผวน และมีโอกาสปรับตัวลงตามทิศทางตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวเป็นจังหวะในการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มหลักหากดัชนีปรับฐานลงสู่ระดับ 1,400-1,410 จุด การลงทุนเน้นกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว, แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังโต และได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนค่า


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์รายงาน เช้านี้ ณ เวลา 9.20 น. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.34 บาทต่อเหรียญ ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันเงินเยนที่แข็งค่าก็ได้กดตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงลง

นักวิเคราะห์มองดัชนีหุ้นไทยยังคงผันผวน และมีโอกาสปรับตัวลงตามทิศทางตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวเป็นจังหวะในการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มหลักหากดัชนีปรับฐานลงสู่ระดับ 1,400-1,410 จุด การลงทุนเน้นกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว, แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังโต และได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนค่า

หุ้นเด่นเลือก BEAUTY-TACC-TKN-JMT-TWPC-SMPC-KCE-HANA-BJC-BDMS-IRPC-KSL-KBS และ BRR

 

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงตลาดหุ้นไทยเช้านี้ (12 ต.ค.) คาดว่าจะปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่จะปรับตัวลง ตามตลาดสหรัฐฯที่ร่วงแรงเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯออกมาไม่ดีสร้างความกดดันให้ตลาดฯ และราคาน้ำมันดิบก็ปรับฐานเล็กน้อย

ทั้งนี้ ตลาดบ้านเราคงยังผันผวนอยู่ แต่หากปรับตัวลงไม่น่าจะหนักมาก เนื่องจากได้ปรับตัวลงแรงในช่วง 2 วันที่ผ่านมาแล้ว แม้นักลงทุนจะยังกังวลในภาพรวมของตลาดฯอยู่ และถ้าดูที่ Fund Flow ของต่างชาติจะเห็นได้ว่าไหลออกทั้งในตลาดหุ้น และตลาด Bond ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ Flow ไหลกลับสหรัฐฯ ดังนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง จึงเป็นเหตุผลที่นักลงทุนต่างชาติจะขายล็อคกำไรไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมให้แนวรับ 1,430 จุด ส่วนแนวต้าน 1,450 จุด

 

บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ (12 ต.ค.) ว่า ผลการดำเนินงาน Alcoa ที่อ่อนแอกว่าคาด, การปรับลดลงของราคาน้ำมัน และความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ (รอดูรายงานการประชุม Fed คืนนี้) กดดัน Dow Jones -1.09% เมื่อคืนที่ผ่านมา และคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดัน SET ต่อเนื่องวันนี้ ด้วยแนวรับ 1,436 จุด ขณะที่ภาพระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า ยังมอง “ผันผวน” ทางลง เหมือนเดิม เนื่องจาก 1) Valuation ยังสูงที่ PE16-17 15.6-14.2 เท่า 2) กระแสเงินทุน “ผันผวน” เพิ่มขึ้น ก่อนการขึ้นดอกเบี้ย Fed ปลายปีนี้ ล่าสุดค่าเงินบาทอ่อนมาที่ 35.4 บาท/ดอลลาร์ฯ และ 3) นักวิเคราะห์ (Consensus) ชะลอการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนหลายสัปดาห์ติดต่อกัน (ดูรายงาน The Revision วันที่ 11 ต.ค.) ขณะที่ Trade Code มีหุ้น Momentum “บวก” เหลือเพียง 8% เท่านั้น

แนะนำ “จำกัด” พอร์ตต่อเนื่อง ขณะที่ “เก็งกำไร” ที่แนวรับ 1,436 จุด เน้นกลุ่ม 1) อิเล็กทรอนิกส์ KCE, HANA ที่ได้รับผลดีจากบาทอ่อนค่า 2) กลุ่มหุ้นที่คาดการณ์กำไรไตรมาส 3/59 ออกมาดี BJC, BEAUTY และ 3) โรงกลั่น+ปิโตรฯ IRPC ได้รับผลดีจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้นในไตรมาส 4/59

 

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ (12 ต.ค.)คาด Set ยังเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางลง ตาม Sentiment ของตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนเริ่มกังวลต่อทิศทางการไหลออกของเงินลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น หลังโกลด์แมนแซคส์ออกมาเพิมคาดการณ์ความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.เป็น 75% จากเดิม 65% สอดคล้องกับค่าเงินบาทที่ทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบกว่า 4 เดือน ขณะที่สถานการณ์ในประเทศยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะข่าวเตือนการก่อการร้ายจะยังกดดันตลาดไปจนถึงช่วงวันที่ 25-30 ต.ค. สงผลลบโดยตรงต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และ ธุรกิจการบิน

ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และเน้นเล่นสั้น “ขึ้นแรงขาย ลงแรงซื้อ” และเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/59 ออกมาดี (BEAUTY, TACC, TKN, JMT, TWPC, SMPC) และกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (KCE) และโรงพยาบาล (BDMS) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงกลุ่มน้ำตาล (BRR KSL KBS) ซึ่งได้ผลบวกจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นและได้ประโยชน์โดยตรงจากการประชุม ครม.วานนี้ที่มีมติให้ ยกเลิกโควต้าน้ำตาล และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ : ขึ้นแรงขาย ลงแรงซื้อ

หุ้นเก็งกำไรระยะสั้น : BRR (ซื้อ/เป้า 16.00 บาท) รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น และได้ประโยชน์จากมติ ครม. ที่ให้ยกเลิกโควต้าน้ำตาลในประเทศ

 

บล.แอพเพิล เวลธ์ ระบุในบทวิเคราะห์ (12 ต.ค.) ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยวานนี้ยังเป็นเรื่องความมั่นใจของนักลงทุน หลังจากฝ่ายความมั่นคงออกมาเตือนระวังภัยวินาศกรรมใน กทม. ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว, สายการบิน และ AOT ปรับตัวลดลง กลยุทธ์การลงทุน ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงต่อการผันผวนลง แนะนำเริ่มทยอยซื้อหุ้นกลุ่มหลัก หากดัชนีปรับฐานลงสู่ระดับ 1,400-1,410 จุด

Back to top button