“เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท” เล็งตั้งอันเดอร์ไรท์-เทรด SET เดือนหน้า

“เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท” หรือ FN ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์จัดจำหน่ายสินค้าประเภท "เอ๊าท์เลท" เตรียมตั้งอันเดอร์ไรท์ต้นพ.ย. จ่อเข้าเทรด SET กลางพ.ย.นี้ หวังระดมทุนเพื่อดันเฮ้าท์แบรนด์ตั้งหน้าร้าน-รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ-ออนไลน์


บริษัทเอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN ระบุว่า บริษัทวางแผนสร้างสรรค์สาขาเอ๊าท์เลทรูปแบบใหม่รวมแหล่งช้อปปิ้งสินค้าหลากหลาย เอ็นเตอร์เทนท์เม้นท์ และจุดพักผ่อน ด้วยการขยายสาขาใหม่พร้อมปรับปรุงสาขาเดิม ตั้งเป้าภายในปี 61 เปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 4 สาขา ประเดิมสาขาอยุธยา เป็น Flagship Strore รูปแบบใหม่แห่งแรก ชูกลยุทธ์จับตลาดประชากรในจังหวัดเส้นทางท่องเที่ยวทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวระดับกลาง-สูง และตลาด AEC

ขณะเดียวกัน เตรียมแผนผลักดันแบรนด์ที่แข็งแรงออกมาตั้งร้าน Stand Alone พร้อมรุกทำตลาดอีคอมเมิร์ซ-ออนไลน์ไปพร้อมกัน หลังการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 250 ล้านหุ้น โดยจะแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายในช่วงต้นเดือน พ.ย.59 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ช่วงกลางเดือน พ.ย.59

ขณะที่ นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร FN เปิดเผยว่า สาขารูปแบบใหม่จะขยายจากการเป็นเอ๊าท์เลทที่จำหน่ายสินค้าเฮ้าส์แบรนด์และพันธมิตรแบบเดิม ไปสู่การบริการพื้นที่ภายในสาขาตั้งร้านค้าเพิ่ม ทำจุดพักผ่อนระหว่างการเดินทาง และแหล่งบันเทิงดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ภายใต้คอนเส็ปต์ ต้องสนุกกับการเข้ามาช้อปปิ้งในเอฟเอ็นเอ๊าท์เล็ต

ทั้งนี้ FN ดำเนินธุรกิจศูนย์จัดจำหน่ายสินค้า ประเภท “เอ๊าท์เลท”จำหน่ายสินค้าของบริษัทเป็นส่วนใหญ่ และตราสินค้าอื่นๆ ที่รับฝากขายและรับซื้อเพื่อมาวางจำหน่าย ปัจจุบัน มีเอ๊าท์เลท 7 สาขา ได้แก่ สาขาเพชรบุรี กาญจนบุรี พัทยา ปากช่อง สิงห์บุรี หัวหิน และศรีราชา นอกจากนี้ยังมีบริษัทย่อย คือ บริษัท เซฟ นาว จำกัด (SN) จำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้านในรูปแบบห้างสรรพสินค้า เป็นแบรนด์รอง (Fighting Brand) เน้นกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับล่าง มีร้าน SAVE NOW 1 แห่งที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โดยบริษัทจะขยายสาขาเอ๊าท์เล็ตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่เป็นเส้นทางสายหลักสำหรับการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการซื้อของลูกค้าในจังหวัดต่างๆ ภายใต้รูปแบบให้มีความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อของ รวมถึงการพักผ่อน ผ่านความพิถีพิถันในการสรรค์หาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและสอดรับกับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งบริษัทมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้ ภายในปี 61 บริษัทมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่ม 4 สาขา โดย 1 ใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาอยุธยา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4/59 ซึ่งจะเป็นสาขารูปแบบใหม่แห่งแรก ส่วนอีก 3 สาขาใหม่จะใช้งบลงทุนต่อสาขาประมาณ 120 ล้านบาทและใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 90 วัน จะใช้เงินจากการเสนอขาย IPO ส่วนหนึ่ง ร่วมกับกระแสเงินสด และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ละสาขาใช้พื้นที่ราว 30-40 ไร่ อาจเป็นการซื้อที่ดินใหม่หรือเช่าที่ดินมาสร้างสาขา

นอกจากนี้จะปรับปรุงสาขาเดิมให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับสาขาใหม่ที่กำลังจะเปิดในอนาคตที่จะมีความทันสมัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าของลูกค้าได้ อาทิ การจัดสรรพื้นที่สำหรับพักรอซื้อสินค้าของผู้ใหญ่และของเด็ก เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงทั้ง 7 สาขาให้แล้วเสร็จภายในปี 62 คาดว่าต้องใช้งบประมาณต่อสาขาประมาณ 7 ล้านบาท โดยภายในปี 60 จะเริ่มจากการปรับปรุงสาขาปากช่อง หัวหิน และเพชรบุรี

“เราจะเปิดสาขาใหม่ทุกปีจนถึงปี 61 ปีละ 1-2 สาขา เป็นรูปแบบใหม่ที่จะมีบริการเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ช้อปปิ้ง แต่ต้องทำให้สนุกกับการเข้ามาด้วย เราไม่มีคู่แข่งโดยตรง มีแต่คู่แข่งทางอ้อม ขณะที่เรายังมีจุดได้เปรียบที่มีสินค้าของตัวเองที่ออกแบบเองและคัดสรรจากแหล่งผลิตโดยตรง ทำให้ได้สินค้าราคาต่ำที่มีคุณภาพสูง”นายปรีชา กล่าว

โดยบริษัทยังมีแผนจะผลักดันแบรนด์สินค้าของบริษัทที่มีความแข็งแรงออกมาตั้งเป็นร้านค้าเฉพาะแบรนด์ดังกล่าว อย่างเช่น แบรนด์ Prim ที่เป็นสินค้าเครื่องนอนและเครื่องใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ และกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น โดยอาจจะเปิดจุดขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือตั้งร้านค้า Stand Alone ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสินค้าเฮ้าส์แบรนด์วางจำหน่ายในเอ๊าท์เลทมากกว่า 65%

นอกจากนั้น ยังมีร้านค้า “ต้นกล้า” ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาภายในชุมชนที่บริษัทตั้งสาขาอยู่ สามารถต่อยอดธุรกิจตั้งเป็น Social Enterprise พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ และการทำตลาดออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน

ด้านนายเบญจ์เยี่ยม ส่งวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FN คาดว่ารายได้รวมของบริษัทในปีนี้ อาจจะรักษาให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1,102.20 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 146.43 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จะมาจาก ตราสินค้าของบริษัท (House Brand)กว่า 65 % และอีก 35 %  คือ ตราสินค้าอื่นๆ ที่เป็น International Brand เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีบริษัทคาดว่าในอนาคตสัดส่วนรายได้จากตราสินค้าของบริษัทจะเพิ่มเป็น 70% ซึ่งสินค้าที่เป็นตราสินค้าของบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 45-48%

สำหรับภาพรวมในอุตสาหกรรมค้าปลีกมองว่า จะได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) และศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในกลุ่ม CLMV ส่วนภาวะการแข่งขันนั้นบริษัทจะมีคู่แข่งทางอ้อม เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน เทสโก้โลตัส และบิ๊กซี เป็นต้น ซึ่งบริษัทก็มีจุดเด่นที่มีการกำหนดนโยบายราคาที่ดึงดูดใจลูกค้า การให้บริการที่เป็นกันเอง และการมีตราสินค้าเป็นของตนเอง

ส่วนนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ของ FN คาดว่า FN จะสามารถเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 250 ล้านหุ้นในเดือน พ.ย.โดยมีวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อลงทุนขยายสาขา 360 ล้านบาทภายในปี 61 ลงทุนปรับปรุงสาขาเดิม 50 ล้านบาทภายในปี 62 ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาว 380 ล้านบาทภายในปี 59 ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการขยายธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทจะเดินทางไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศที่สิงคโปร์และฮ่องกงมากกว่า 10 กองทุนในช่วงวันที่ 24-25 ต.ค.นี้ หลังจากเสร็จสิ้นการให้ข้อมูลกับนักลงทุนในประเทศแล้ว

ด้านนายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการจัดการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะแกนนำผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ FN คาดว่าจะมีการลงนามแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย ในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ ส่วนการกำหนดราคาขายหุ้น IPO นั้นยังไม่ได้กำหนดวิธีการชัดเจนซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งการสำรวจความต้องการจองซื้อ( Book Building) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามต้องรอหลังจากการเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศจะมีการไปให้ข้อมูลแก่สถาบันกว่า 10 กองทุน และส่วนต่างประเทศ ในวันที่ 24-25 ต.ค.นี้ จะเดินทางไปสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อให้ข้อมูลแก่กองทุนอีกกว่า 10 กองทุน โดยคาดว่าจะสามารถจองซื้อหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนใน SET ได้ในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้

“การกำหนดราคา IPO นั้นยังไม่แน่ชัด อาจจะมีการทำ Book Building หรือไม่ก็พิจารณาอีกครั้ง เพราะขณะนี้ความต้องการหุ้นก็มากพอสมควร ซึ่งเราก็ต้องมีการพิจารณาหลังจากไปโรดโชว์โดยจะมีสถาบันในประเทศกว่า 10 กองทุน รวมถึงต่างประเทศก็มี สิงคโปร์ กับฮ่องกง ช่วงวันที่ 24-25 ต.ค. นี  ซึ่งหุ้นของเรามีจุดเด่น มีการเติบโตที่ชัดเจน ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นสูง แต่เราก็คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายใน SET ได้ช่วงกลางเดือน พ.ย.”นายสมภพ กล่าว

 

Back to top button