6 หุ้นเช่าซื้อชูชื่น! รับมาตรการอัดฉีดเงินหมื่นล้านแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

6 หุ้นเช่าซื้อชูชื่น! เตรียมเด้งรับปัจจัยบวก หลังครม.ไฟเขียวอัดฉีดเงินกว่าหมื่นล้านบาท เปิดโครงการ 27 ก.พ.นี้ หวังแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ


6 หุ้นเช่าซื้อชูชื่น! เตรียมเด้งรับปัจจัยบวก หลังครม.ไฟเขียวอัดฉีดเงินกว่าหมื่นล้านบาท เปิดโครงการ 27 ก.พ.นี้ หวังแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” รายงานว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ นั้น คาดว่าจะส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น และเป็นการยกดับคุณภาพชีวิตคนจนได้ประมาณ 2 แสนคน  ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและสินเชื่อรายย่อยจะได้รับผลดี เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งเป็นการหนุนให้สินเชื่อนอกระบบกลับสู่ในระบบมากขึ้น

โดยนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อธนาคารละ 5 พันล้านบาท รวมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี คาดว่าจะครอบคลุมประชาชนและเกษตรกรในกลุ่มดังกล่าวประมาณ 200,000 รายโดยโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลจะเปิดโครงการใหญ่ในวันที่ 27 ก.พ.นี้

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนที่มีการประกอบอาชีพ หรือเป็นเกษตรกรที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว โดยต้องไม่เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้ในระบบเดิม ซึ่งจะต้องยื่นขอกู้เงินภายใน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินเดือนละ 0.85% หรือประมาณ 10% ต่อปี ผู้กู้ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อ จะดูความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้ และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ความจำเป็นที่ต้องเสนอครม.ครั้งนี้ เป็นเพราะทั้ง 2 ธนาคารได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ เพื่อรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว แต่ยังมีประชาชนทั้งที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคารได้ และมีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ทั้ง 2 ธนาคารจึงเสนอโครงการดังกล่าวขึ้นมา สำหรับบริการทางการเงินกับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อนำไปใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนในครัวเรือน

 

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า SINGER ,KOOL ,JMART ,COM7 และTK จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจรากหญ้า ได้ประโยชน์จากนโยบายปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบของภาครัฐมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มสินเชื่อรายย่อย / สินเชื่อทะเบียนรถ (SAWAD, MTLS, SGF) ประเมิน Catalyst บวก 3 ประเด็นคือ 1) รถคันแรกผ่อนหมด ทำให้มีโอกาสในการทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมากขึ้น 2) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องในปีนี้ (นักเศรษฐศาสตร์ บล เคจีไอ คาด กนง คงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี) 3) นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบภาครัฐฯหนุนให้สินเชื่อนอกระบบกลับสู่ในระบบมากขึ้น แนะนำ “เก็งกำไร” SAWAD, MTLS และหุ้นน้องใหม่ SGF (กำลังเริ่มต้นธุรกิจ เช่าซื้อและสินเชื่อทะเบียนรถ) สำหรับบจ.ที่คาดว่าได้รับปัจจัยบวกได้แก่ SINGER ,KOOL ,JMART ,COM7 ,TK และSGF

อันดับที่ 1 บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ด้าน บล.ทิสโก้ แนะนำ “ถือ” SINGER ราคาเป้าหมาย 14.50 บาท/หุ้น โดยเปลี่ยนคำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ถือ” จากยอดขายเริ่มฟื้นตัวทั้งโทรศัพท์มือถือและการออกสินค้าใหม่ๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับโครงสร้างธุรกิจช่วยลดต้นทุนและสร้างกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมี upside จากการเพิ่มธุรกิจปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ปรับราคาราคาเป้าหมายเป็นปี 60 ที่ 14.50 บาท  (XD 6 มี.ค. 17 @ 0.25 บาท)

         

อันดับที่ 2 บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KOOL ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” KOOL ราคาเป้าหมาย 7 บาท/หุ้น โดยประเมินว่า KOOL ได้มีการเตรียมพร้อมค่อนข้างมากแล้ว สำหรับการขายช่วง High Season ที่กำลังจะมาถึงในเดือน มี.ค.-พ.ค.

ขณะที่คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 4/59 อาจยังไม่เด่น ตามปัจจัยฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ยังคงประเมินกำไรสุทธิปี 59ใกล้เคียงเดิม เติบโตโดดเด่นถึง 1,145% จากปีก่อน

ทั้งนี้ประเมินรายได้ในปี 60 จะยังคงเติบโตใกล้เคียงกับในช่วงอดีตราว 40% โดยปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปี 60 ขึ้นเล็กน้อย เติบโตเด่นราว 40%ยังแนะนำ ซื้อ โดยระยะสั้นอาจมีปัจจัยกดดันจากผลการดำเนินงานไตรมาส 4/59 ที่ยังอยู่ในช่วง Low Season ก่อนจะกลับมาเติบโตได้โดดเด่นในงวดครึ่งปีแรกของปี 60

 

อันดับที่ 3 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART โดยล่าสุดบริษัทประกาศผลการดำเนินงานปี 59 ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปี 58 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์ “The Power of Synergy” ของบริษัทภายในกลุ่มร่วมกัน โดยเฉพาะจากธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจติดตามหนี้ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

สำหรับรายได้รวมที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นผลจากรายได้ในธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรายได้หลักที่มีสัดส่วนกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9% มาอยู่ที่ 9.08 พันล้านบาท นับเป็นการเติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศที่เติบโตเพียง 5% ในปีที่ผ่านมา และถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดในธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท จากการขายสินค้าผ่านหน้าร้านเจมาร์ทกว่า 200 สาขาแล้ว ยังสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านบริษัทในเครือที่หลากหลายและครอบคลุมที่สุดในประเทศ โดยปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1.13 ล้านเครื่อง ด้วยราคาเฉลี่ยต่อเครื่องที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังรับรู้รายได้จากการให้บริการติดตามหนี้และบริการอื่น ๆ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ซึ่งเป็นบริษัทย่อย อยู่ที่ 1.09 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.4% เนื่องจากความสามารถจัดเก็บหนี้ด้อยคุณภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

อันดับที่ 4 บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมาย 14.6 บาท  แนะนำ “ถือ” และซื้อเพิ่มเมื่อยืนเหนือแนว 12.5 บาท (กำหนด Stop loss 11.4 บาท) โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 4/59 เติบโต 25%จากปีก่อนเป็น 130 ล้านบาท และคาดกำไรปี 2560 จะโตเด่นต่อเนื่องอีก 35%จากปีก่อน

 

อันดับที่ 5 บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK โดย นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการTK ตั้งเป้าปี 2563 ขยายฐานสัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อ ที่มาจากภายในประเทศและต่างประเทศ อยู่ที่ 50:50 จากปัจจุบันมีลูกหนี้เช่าซื้อจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% โดยมั่นใจว่า จะสามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้อีกมาก ด้วยความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน พร้อมต่อการลงทุนในต่างประเทศได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปลงทุนเปิดสาขาเอง, การเข้าซื้อกิจการ หรือ การมองหาพาร์ทเนอร์ในลักษณะของ Joint Venture รวมทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดต่างประเทศ อย่าง ลาว และกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่รายได้ประชากรเฉลี่ยยังไม่สูงมากนัก และมีการขยายตัวของจำนวนประชากรสูง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะ

ทั้งนี้ในปี 60 บริษัทมีแผนจะขยายสาขาในกัมพูชา เพิ่มอีก 3 สาขาจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 3 สาขา และเตรียมขยายสาขาเพิ่มในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในขณะเดียวกัน ยังได้มองโอกาสการลงทุนในอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน

“นับจากนี้เป็นต้นไป TK ได้กำหนดแผนการเติบโตให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการรุกขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตของตลาดภายในประเทศ”

               

อันดับที่ 6 บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SGF โดย นายวิวัฒน์ วิฑูรย์เธียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SGF เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อคงค้างปลายปีนี้ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งหมายถึงการแปลงเงินสดเป็นสินเชื่ออย่างเต็มที่บวกกับกู้อีกเพียงเล็กน้อย โดยปัจจุบัน ยอดปล่อยสินเชื่อของ SGF มีอยู่ราว 800 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับสูง และเอ็นพีแอลต่ำตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา

โดยแผนการดำเนินธุรกิจของ SGF จากนี้จะมีการขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ส่วนคือ การเพิ่มโปรดักส์เกี่ยวกับการให้สินเชื่อจากเดิมที่มีอยู่ 4 ประเภทคือ สินเชื่อเงินให้กู้ยืม, สินเชื่อแฟคตอริ่ง, สินชื่อบุคคล และการบริหารหนี้  จากนี้จะเพิ่มโปรดักส์ใหม่คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ , สินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อจำนองบ้านและที่ดินรายย่อย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพราะความต้องการยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่สำหรับ SGF จะเข้าร่วมแชร์ตลาดในส่วนนี้ได้ไม่ยาก

ขณะที่ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะเปิดสาขาให้ได้ประมาณ 60 สาขา ควบคู่ไปกับขณะเดียวกันระบบเอเย่นต์ส่งงาน ส่งลูกค้าให้สาขาเป็นแขนขาในการต่อยอดในการขยายธุรกิจให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและเป็นวิธีการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะทำให้ SGF บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button