อิหร่าน นิวเคลียร์ และไทยพลวัต2015

หลังจากการเจรจาระหว่างอิหร่านกับประเทศตะวันตก ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ยืดเยื้อยาวนานหลายวันติดกันจนเกินเส้นตายที่กำหนด ข้อตกลงเรื่องกัดจำการใช้นิวเคลียร์ของอิหร่านก็เริ่มมีเค้าลางที่ชัดเจนว่าจะบรรลุผล แม้จะไม่ทั้งหมดก็ยังดี


หลังจากการเจรจาระหว่างอิหร่านกับประเทศตะวันตก ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ยืดเยื้อยาวนานหลายวันติดกันจนเกินเส้นตายที่กำหนด ข้อตกลงเรื่องกัดจำการใช้นิวเคลียร์ของอิหร่านก็เริ่มมีเค้าลางที่ชัดเจนว่าจะบรรลุผล แม้จะไม่ทั้งหมดก็ยังดี

การเจรจาดังกล่าว เป้าหมายคือกำหนดการลดปริมาณการสกัดยูเรเนียมเข้มข้น รวมทั้งลดปริมาณการเก็บสะสมยูเรเนียมดังกล่าวลง แต่อิหร่านต้องการคำรับรองจากชาติทั้ง 6 ที่เข้าร่วมเจรจา ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี ว่าต้องการให้มหาอำนาจทั้ง 6 ประเทศ ยื่นข้อแลกเปลี่ยนกับเพิ่มเติมจากข้อเสนอเดิม ว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตรการค้า ทองคำ น้ำมัน และปิโตรเคมิคอลของอิหร่าน

ที่ประชุมระบุว่า การเจรจาได้บรรลุหลักการสำคัญแล้ว เหลือแค่การร่างรายละเอียดเท่านั้น แต่นักวิเคราะห์ยังคงมองว่ามีความเสี่ยงที่กระบวน การเจรจา ซึ่งผ่านมาแล้วถึง 10 รอบ จะไม่บรรลุเป้าหมายทางปฏิบัติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2556 อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียม จนเข้าใกล้ระดับที่จะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว ทำให้ประเทศตะวันตกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งแล้วครั้งเล่า และเกิดความเสี่ยงสูงที่อิสราเอลกับสหรัฐจะปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน แต่หลายปีมานี้ หลายส่วนสำคัญของโครงการนิวเคลียร์อิหร่านหยุดลง เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร และรับเงินคืนราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23,100 ล้านบาท เป็นประจำทุกเดือนจากการผ่อนคลายทรัพย์สินของอิหร่านในต่างประเทศ

การบรรลุเป้าหมายเจรจาจึงเท่ากับเป็นการผ่อนคลาย เพราะอิหร่านนั้นมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ และเป็นชาติคู่ค้าสำคัญระดับโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้

สำหรับตลาดน้ำมัน ผลสะเทือนจากการเจรจาที่บรรลุเป้าหมาย จะทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

สำหรับประเทศไทย การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเป็นเรื่องดีอย่างเต็มที่ เพราะนับตั้งแต่ชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐและสหภาพยุโรป มีมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านหลายด้าน การค้าระหว่างไทย-อิหร่านปีละประมาณ  3.3 หมื่นล้านบาทสะเทือนอย่างหนัก

มาตรการที่สำคัญคือ การสร้างมาตรการสกัดกั้นการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของอิหร่านกับประเทศคู่ค้า มาตั้งแต่ปี 2555 มีผลให้การชำระเงินค่าสินค้ายากขึ้นกว่าเดิม เพราะธนาคารที่จะยอมเปิดแอล/ซี (Letter of Credit) ให้กับอิหร่านและคู่ค้าจะหายไป

ธนาคารพาณิชย์ของไทยเองก็ปฏิเสธไม่รับแอล/ซี ที่ออกจากธนาคารอิหร่าน เพราะอาจไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเพียงพอ

ในระยะแรกของการที่ไทยให้ความร่วมมือในการแซงก์ชั่นดังกล่าว คู่ค้าระหว่างไทยและอิหร่านที่เป็นเอกชนได้เลือกเอาวิธีการให้ผู้นำเข้าจากอิหร่านใช้เงินสดที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ชำระผ่านแบงก์ของดูไบ เพื่อโอนมาแบงก์ไทยอีกที หรือโอนผ่านแบงก์ของผู้ส่งออกในประเทศอื่น แต่ต่อมาความเข้มงวดที่เข้มข้นขึ้น ทำให้ใช้วิธีการยุ่งยากมากขึ้นคือ ให้อิหร่านขนเงินสดขึ้นเครื่องบินมาซื้อสินค้าไทยที่ได้รับความนิยม เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอื่นๆ  ซึ่งทุลักทุเลอย่างมาก

หากพิจารณาแล้ว ไทยเป็นฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจากมาตรการดังกล่าวค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้าการออกมาตรการดังกล่าว ในปี 2554 การค้าไทย-อิหร่าน (ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่า 1,125.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในรูปเงินบาทมีมูลค่า  33,957.85 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 41.62%

การส่งออกของไทยไปยังอิหร่านเมื่อสิ้นปี 2554 มีมูลค่า  985.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  (29,692.58 ล้านบาท) ขยายตัวสูงถึง 92.19% เพราะความขัดแย้งกับชาติตะวันตก ทำให้อิหร่านหันมาค้ากับภูมิภาคเอเชียมากขึ้นซึ่งรวมทั้งไทย

ส่วนการนำเข้าจากอิหร่านของไทยในปี 2554 มีมูลค่า 139.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,265.27 ล้านบาท) ขยายตัวลดลง 50.39% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าอิหร่าน 845.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 25,427.31 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ไทยเกินดุลการค้าอิหร่าน 230.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,001.77 ล้านบาท)

สำหรับสินค้าส่งออกของไทย 5 อันดับแรกที่ส่งไปอิหร่านในปี 2554 ประกอบด้วย เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ, ข้าว, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, น้ำตาลทราย  และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

ขณะสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากอิหร่าน ประกอบด้วย เคมีภัณฑ์, น้ำมันดิบ, สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์, สัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 

ส่วนการท่องเที่ยวนั้น สิ้นปี 2554 นักท่องเที่ยวชาวอิหร่านมีจำนวนมากถึง 1.5 แสนคน และใช้จ่ายมากถึง 6,870 ล้านบาท ก็พลอยหายไปด้วย เพราะไม่สามารถมาได้ง่ายๆ

การบรรลุเป้าหมายเจรจาครั้งนี้ ไม่ว่าจะมองจากมุมใด เป็นผลดีกับไทยโดยตรง ส่วนจะส่งผลเสียหายต่อชาวโลกมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันต่อไป

ในยามที่เศรษฐกิจไทยกำลังจมปลักกับการถดถอยทางเศรษฐกิจ (ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าครึ่งแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ) การส่งออกไปอิหร่านครั้งใหม่ ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

หากไม่ฉวยโอกาสนี้ไว้ ก็ถือว่าเสียของ

               

                 

Back to top button