เรื่องฉาวผู้บริหาร GL ยังปูดอีก! ก.ล.ต.ญี่ปุ่นเคยสั่งปรับฐานปั่นหุ้น

เรื่องฉาวผู้บริหาร GL ปูดอีก! ก.ล.ต.ญี่ปุ่นเคยสั่งปรับฐานจำนวน 4 พันล้านเยน ในข้อหาปั่นหุ้น "Wedge Holdings Co.Ltd." เมื่อปี 2556


สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์ จำนวน 3.48 พันล้านบาท โดยได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัส และสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อโดยมีการนำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยดังกล่าว

นอกจากนี้ ล่าสุด ยังมีการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นหรือ SESC ได้สั่งปรับตระกูล “โคโนชิตะ” ซึ่งเป็นตระกูลของผู้บริหาร GL นำโดย “นายทัตซึยะ โคโนชิตะ” ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท GL ในข้อหาใช้ข้อมูลเท็จจากการซื้อ-ขายหุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อปั่นราคาหุ้น Wedge Holdings Co.Ltd. เป็นจำนวนเงิน 4,096.05 ล้านเยน

โดยกระบวนการดังกล่าว เริ่มต้นจากเมื่อวันที่  4 มีนาคม 2553 กลุ่มโคโนชิตะได้เปิดเผยข้อมูลเท็จผ่าน Timely Disclosure network หรือ TDnet ว่า  WedgeHoldings ได้มีการจองซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกโดย A.P.F. Hospitality จำนวน 800 ล้านเยน พร้อมคาดการณ์ว่าจะเข้าถือสิทธิในหุ้นบริษัทดังกล่าวผ่านการใช้สิทธิแปลงหุ้นกู้ อีกทั้งยังมีการนำเสนอด้วยว่า บริษัทจะมีกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่มาจากหุ้นกู้ดังกล่าว

ต่อมากลุ่มโคโนชิตะได้ทำการเปิดเผยข้อมูลผ่าน TDnet อีกครั้ง โดยมีการพูดถึงกำไรจากดอกเบี้ยของเงินลงทุนที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งบริษัทยังจะมีรายได้จากส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ยังมีการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งผลจากการเปิดเผยข้อมูลเท็จเหล่านี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Wedge Holdings ระหว่างวันที่ 4-16 มีนาคม 2553 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 12,000 เยนต่อหุ้น เป็น 39,250 เยนต่อหุ้น

อย่างไรก็ตามมีการตรวจสอบพบว่า A.P.F. Hospitality ไม่ได้อยู่ในสถานะที่สามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพตามกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยได้ เนื่องจากติดขัดด้านปัญหาโครงสร้างของบริษัทดังนั้นบริษัทจึงไม่ได้รับอนุมัติในการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจาก ก.ล.ต.ของประเทศไทย และ Wedge Holdings ไม่ได้ซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวจาก A.P.F. Hospitality จริง ขณะที่การชำระเงินค่าหุ้นกู้ชุดนี้ ถูกอำพรางหรือซ่อนเร้นโดยการหมุนเวียนเงินภายในบริษัทในเครือของ APF Group เท่านั้น

 

โดยกรณีดังกล่าวนั้นส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการที่ GL ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 3.48 พันล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับบริษัทอื่นๆ อีก 2 กลุ่ม ในประเทศไซปรัสและประเทศสิงคโปร์ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า GL จะสามารถบันทึกรายได้จากการปล่อยสินเชื่อก้อนนี้ได้สูงถึง 485 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของกำไรสุทธิในปี 2559 ซึ่งการคาดการณ์ต่อการบันทึกกำไรส่วนนี้มีผลทำให้ราคาหุ้น GL ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ โดยช่วงระหว่างเดือนเมษายน-เดือนธันวาคม 2559 ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นราว 250% จากระดับราคาประมาณ 20 บาทต่อหุ้น ขึ้นมาจนเกือบถึง 70 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตุว่า การที่ GL ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาในประเทศสิงคโปร์เพื่อรับสินเชื่อจากบริษัทไปปล่อยกู้ต่อนั้น เนื่องจากบริษัทต้องการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนนี้ได้ครบกำหนดตามงวด โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า ลูกหนี้รายต่างๆ ได้ขอขยายเวลาในการชำระหนี้ให้แก่บริษัทย่อยหรือไม่ หากข้อสังเกตนี้มีส่วนถูกต้อง ผลการดำเนินงานของ GL ในงวดถัดๆ ไปคงมีตัวเลขกำไรออกมาอยู่ในระดับที่ดี แต่จะมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า คือช่วงเวลาที่บริษัทต้องเริ่มบันทึกหนี้สูญจากบริษัทย่อย หากว่าลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้

Back to top button