น้ำมันจะถูกไปอีกนาน

ข้อเท็จจริงเรื่องอิหร่าน บวกกับกำลังการผลิตของซาอุฯและสหรัฐฯที่มีเพิ่มมากขึ้น จนน้ำมันจะท่วมโลกอยู่มะรอมมะร่อเช่นนี้ จะหักล้างประเด็นเรื่องสงครามออกไปทั้งหมด และประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างไทยเราก็จะได้รับอานิสงส์ ได้ใช้น้ำมันราคาถูกอย่างนี้ต่อไปอีกนาน ถึงนานมาก


–ตามกระแสโลก–

 

รอบสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับที่ถือว่า ต่ำพอสมควร โดยราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส หรือ WTI ขึ้นลงในกรอบประมาณ 47–50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ หรือ Brent อยู่ในกรอบประมาณ 54–56 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า ณ ตอนนี้ ยังไม่มีปัจจัยบวกใดๆที่จะสามารถเข้ามาช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นได้อย่างยั่งยืน หรือพูดอีกอย่างก็คือ ยังไม่มีอะไรมาหนุนพื้นฐานที่แท้จริงของราคาได้

ช่วงราคาของทั้ง WTI และ Brent ปรับตัวลงมาต่ำกว่าการคาดการณ์ เฉลี่ยราว 3.19% ซึ่งผลกระทบหลักๆยังคงมาจากอุปทานที่ล้นตลาดบวกกับอุปสงค์ที่หดตัวลง แถมหลายๆประเทศก็ยังมีปริมาณน้ำมันสำรองไว้ใช้อีกเหลือเฟือ อีกทั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา การเจรจาเรื่องลดปริมาณการสกัดยูเรเนียมเข้มข้น ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ 6 ชาติ ซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมันก็บรรลุผลไปได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีปริมาณน้ำมันส่วนที่เกินไปจากความต้องการมากถึง 1.30 ล้านบาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะไม่มีใครยอมลดราวาศอกที่จะลดกำลังการผลิตลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโอเปคเอง หรือผู้ผลิตเชลออยล์จากสหรัฐฯ มิหนำซ้ำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซาอุฯ พี่ใหญ่กลุ่มโอเปคยังเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกกว่า 3.50 แสนบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ราคาน้ำมันจะปรับฐานขึ้นมาในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะตอนนี้อุปสงค์ในตลาดโลกก็ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

 

20150404-2

 

ส่วนเรื่องการเจรจาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ของอิหร่านในครั้งนี้ ผลที่ออกมาถือว่า ลุล่วงไปด้วยดี โดยอิหร่านยอมรับหลักการในเบื้องต้น (ยอมรับไว้พิจารณา) เพื่อลดผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาอิหร่านก็เดือดร้อนไปพอสมควร เนื่องจากโดนสกัดกั้นการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ มาตั้งแต่ปี 2555 และที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ พวกตะวันตกยังได้คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านอีกด้วย

หากว่าการเจรจาในขั้นสุดท้าย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ สามารถบรรลุไปตามเป้าหมายของชาติตะวันตก ซึ่งหมายถึงอิหร่านต้องยอมส่งมอบยูเรเนียมบางส่วนให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของชาติอื่นๆที่สหรัฐฯไว้ใจ จะส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศพันธมิตรต่างๆ ได้อีกครั้ง โดยมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันดิบในส่วนที่ติดค้างอยู่ จากมาตรการคว่ำบาตร มีอยู่สูงถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว

อะไรจะเกิดขึ้นกับราคาเมื่อน้ำมันจากอิหร่านออกมาสู่ตลาดโลกอีกครั้ง ก็ต้องไปลองคิดดูกันเอา แต่ที่แน่ๆจากตอนนี้ที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่ราว 1.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็จะกลายเป็น อย่างน้อยๆ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นอยู่ลึกๆว่า อิหร่านจะยอมทำตามเงื่อนไขของตะวันตก คือยอมทิ้งยูเรเนียมไปส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้กลับมาขายน้ำมันแล้วนำเงินมาบริหารจัดการประเทศ เพราะตัวเองก็กำลังลำบากอยู่ในตอนนี้

ขณะเดียวกัน มีหลายคนมองว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะสงครามระหว่างรัฐบาลเยเมนกับกลุ่มกบฏ แต่เชื่อเถอะว่า สงครามนี้จะส่งผลบวกต่อราคาแค่ในระยะสั้นเท่านั้น โดยที่ข้อเท็จจริงเรื่องอิหร่าน บวกกับกำลังการผลิตของซาอุฯและสหรัฐฯที่มีเพิ่มมากขึ้น จนน้ำมันจะท่วมโลกอยู่มะรอมมะร่อเช่นนี้ จะหักล้างประเด็นเรื่องสงครามออกไปทั้งหมด และประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างไทยเราก็จะได้รับอานิสงส์ ได้ใช้น้ำมันราคาถูกอย่างนี้ต่อไปอีกนาน ถึงนานมาก 

Back to top button