นาทีทองหุ้นกลุ่มไก่ รับประโยชน์ 2 เด้ง โบรกฯชี้ “เพิ่มน้ำหนักลงทุน”

นาทีทองหุ้นกลุ่มไก่ รีบคว้าโอกาสขยายตลาดในเกาหลีใต้ รับมาตรการงดภาษีนำเข้าเริ่มเดือนหน้า แก้ปัญหาการขึ้นราคาจากเชื้อไข้หวัดนกระบาด ทำไก่ไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกเนื้อไก่ หลังจากที่ทางการประเทศญี่ปุ่นมีคำสั่งห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งจากประเทศบราซิลชั่วคราว หลังพบว่ามีการลักลอบส่งออกเนื้อสัตว์ที่เน่าเสีย ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นคาดว่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีโอกาสที่ประเทศญี่ปุ่นจะทำการสั่งเนื้อสัตว์จากประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกหลังประเทศเกาหลีใต้มีแผนจะยกเว้นภาษีนำเข้าไก่ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.60 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันการขึ้นราคาในระหว่างที่มีเชื้อไข้หวัดนกระบาดอย่างรุนแรงภายในประเทศ โดยจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการดังกล่าวในการขยายตลาดในประเทศเกาหลีใต้

สำหรับผู้ประกอบการที่จะคาดว่าจะได้รับประโยชน์ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT และบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG

 

โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่ากระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้มีแผนจะยกเว้นภาษีนำเข้าไก่ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.60 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันการขึ้นราคาในระหว่างที่มีเชื้อไข้หวัดนกระบาดอย่างรุนแรงภายในประเทศ และมีการระงับการนำเข้าไก่จากสหรัฐฯ ถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไก่ปรุงสุก และไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยในการขยายตลาดในเกาหลีใต้

“ปัจจุบัน ไก่ไทยเสียภาษีนำเข้าเกาหลีใต้ในอัตราสูง โดยเฉพาะไก่ปรุงสุก มีภาษีนำเข้า 30% ส่วนไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 20% สูงกว่าไก่จากสหรัฐฯ ที่เสียภาษีนำเข้าเพียง 8% หากรัฐบาลเกาหลีใต้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าไก่ดังกล่าว จะทำให้ไก่ไทยมีการขยายตลาดในเกาหลีใต้มากขึ้น และแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญ เช่น บราซิล และสหรัฐฯ ได้” นางอภิรดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกไก่สดไปยังเกาหลีใต้ได้ กระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล เร่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกไก่ไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น

 

ด้าน นางสาววิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล กล่าวเพิ่มเติมว่า เกาหลีใต้สามารถเลี้ยงไก่เพื่อการบริโภคเองภายในประเทศ แต่นำเข้าไก่แปรรูปจากประเทศบราซิลควบคู่ไปด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตชาวเกาหลีใต้ต้องการขึ้นราคาไก่ หลังจากเกาหลีใต้ระงับการนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐ ซึ่งมีสาเหตุจากการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดนกในสหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ระบายสินค้าไก่คงคลัง 2,000 ตัน ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เพื่อบรรเทาความกังวลด้านการซัพพลาย (อุปทาน) ควบคู่ไปกับการยกเว้นภาษีนำเข้าด้วย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกไก่ไทยและผู้นำเข้าเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผลจากการเจรจาการค้าในกิจกรรมนี้คาดว่าจะมีการนำเข้าไก่ปรุงสุกและไก่แช่เย็นแช่แข็งจากไทยภายใน 1 ปี มูลค่า 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ปี 2559 ไทยส่งออกไก่แปรรูปและไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปเกาหลีใต้มูลค่ารวม 43.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 50.08

 

ด้าน บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ กลุ่มอาหาร (Overweight) ด้วยอานิสงส์จากข่าวเกาหลีใต้มีแผนยกเว้นภาษีนำเข้าไก่เพื่อป้องกันการขึ้นราคาระหว่างที่มีเชื้อไข้หวัดนกระบาดรุนแรงในประเทศและการระงับนำเข้าไก่จากสหรัฐฯ โดยการยกเว้นภาษีจะมีผลตั้งแต่ เม.ย. นี้เรามองเป็นโอกาสดีของผู้ส่งออกไก่ปรุงสุกและไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยในการรุกตลาดเกาหลีใต้ Top Picks เลือก CPF (Consensus TP@36) และ GFPT  (Consensus [email protected])

ส่วน บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “เพิ่มน้ำหนักลงทุน” ในกลุ่มอาหาร เนื่องจากปัญหาส่งออกเนื้อสัตว์ของบราซิลไปยังประเทศกลุ่ม EU, จีน, ฮ่องกง, และเกาหลีใต้ จะทำให้โอกาสในการส่งออกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะไก่จากไทยเพิ่มขึ้น และเป็น upside ต่อราคาไก่ในประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อ GFPT และ CPF จึงแนะนำ “ซื้อ” CPF  (พื้นฐาน 36 บาท) และ “เก็งกำไร” GFPT

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button