พาราสาวะถี

ถอนฟืนออกจากกองเพลิงไปหนึ่งท่อน ลดทอนกระแสต่อต้านโดยไม่จำเป็นไปได้อีกหนึ่งเปราะ สำหรับรัฐบาลคสช. หลังจากที่ประชุมสนช.ยอมถอยตัดมาตรา 10/1 เรื่องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ก่อนจะยกมือผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวฉลุยในวาระ 3 โดยโยกเอาปมปัญหาไปเขียนไว้ในข้อสังเกตแทน


อรชุน

 

ถอนฟืนออกจากกองเพลิงไปหนึ่งท่อน ลดทอนกระแสต่อต้านโดยไม่จำเป็นไปได้อีกหนึ่งเปราะ สำหรับรัฐบาลคสช. หลังจากที่ประชุมสนช.ยอมถอยตัดมาตรา 10/1 เรื่องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ก่อนจะยกมือผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวฉลุยในวาระ 3 โดยโยกเอาปมปัญหาไปเขียนไว้ในข้อสังเกตแทน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อคลางแคลงใจว่าทางออกดังกล่าวของสนช.เป็นการหมกเม็ดหรือเปล่า ย้ายเอาเรื่องใหญ่ที่ถูกกล่าวหาว่าสอดไส้ลักไก่ใส่มาในกฎหมาย ไปไว้ในข้อสังเกตที่ต้องให้รัฐบาลดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในเรื่องดังกล่าวภายใน 60 วัน ซึ่งเท่ากับเป็นไฟต์บังคับรัฐบาลต้องดำเนินการตามนั้น เป็นเกมวิน-วินทั้งสองฝ่าย

นั่นอาจเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำรัฐบาลคสช.ได้มาช่วยอธิบายแทนว่า อย่าไปคิดกันมากและมองอะไรข้ามขั้นตอน เพราะการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องใหม่ รอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก่อนแล้วค่อยว่ากัน หากผลการศึกษาพบข้อเสียมากกว่า รัฐบาลจะไม่ตั้งก็ได้

ความจริงมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้นตั้งแต่แรก หากไม่มีการดันทุรัง หมกเม็ดกันในข้อกฎหมายก็ไม่เกิดกระแสต่อต้าน ไม่คิดว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้จะมีการปล่อยผ่านหรือใช้ทางลัดแบบไม่รอบคอบเช่นนี้ แต่พอย้อนกลับไปนึกถึงคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่าสนช.เอามาตรา 10/1 มาแปะเพื่อตัดความรำคาญ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นมาทันที ยิ่งเมื่อนำไปผนวกเข้ากับบุคลิกของท่านผู้นำ

เหมือนอย่างที่นักวิชาการหลายรายเสนอความเห็นไว้ก่อนหน้า ประเด็นนี้หากจะให้มีความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ควรจะแยกเป็นกฎหมายต่างหาก รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย อธิบายความจำเป็นและวิธีการบริหารจัดการให้กระจ่างชัด แค่เท่านี้ก็คงไม่มีเสียงครหาประเภทว่าดันกันมาแบบดื้อๆ เพราะมีผลประโยชน์อะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

เมื่อวิถีการเดินเกมเปลี่ยนมาเป็นเช่นนี้ ถามว่าแล้วจะอย่างไรกันต่อไป ขั้นตอนก็คือ กระทรวงพลังงานจะต้องไปตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อดีข้อเสียของการมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เบื้องต้นเท่าที่ฟังจากวิษณุอธิบายจะมีตัวแทนที่มาจากนักวิชาการ เอกชนหรือจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยหรือคปพ.ที่ 6 แกนนำถูกจับกุมไปดำเนินคดีในวันที่ชุมนุมหน้ารัฐสภา

หลังจากศึกษาแล้วเสร็จก็จะมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ ฟังจากคำอธิบายของรองนายกฯฝ่ายกฎหมายแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าทั้งๆ ที่รู้กระบวนการขั้นตอนหรือสิ่งที่ควรจะทำแล้วทำไมถึงเลือกที่จะเดินไปตายน้ำตื้น เพราะจากสิ่งที่บอกมันมีทางออกหลายทางหากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีบทสรุปว่าต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

กล่าวคือ จะออกเป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยการตั้งบรรษัท หรือนำไปผนวกไว้ในกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งก็ได้ หรือจะใส่ไว้ในพ.ร.บ.ปิโตรเลียมหรือจะใช้วิธีอื่นที่คิดได้ภายหลังก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เนื้อหาร่างกฎหมายที่จะเกิดขึ้นต้องระบุว่าให้ใครทำอะไรและจะตั้งบรรษัทหรือไม่ นี่ต่างหากคือสิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องก่อนหน้า ทำไมจึงไปบัญญัติกฎหมายแบบไร้ความคิดเหมือนที่สนช.ทำกัน

ทั้งนี้ เมื่อมีบทสรุปออกมาเช่นนี้ก็น่าจะทำให้คนที่เอาใจช่วยปตท.สบายใจหายห่วงไปได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ต้องจับตากันต่อไปคือ ผลของร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่จะบังคับใช้ เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานจะต้องไปเตรียมการเพื่อประมูลสัมปทานปิโตรเคมีสองแหล่งคือ แหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งจะหมดอายุในปี 2565-2566 ที่จำเป็นต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี

ขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการออกกฎกระทรวง 5 ฉบับ และประกาศ 1 ฉบับ ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา 53/1) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขและระยะเวลาการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ (มาตรา53/6)

กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา 53/2) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา 53/9) และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา 53/10) โดยเป็นที่คาดหมายว่ากฎกระทรวงและประกาศทั้งหมดจะแล้วเสร็จเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

คล้อยหลังจากนั้นอีก 1 เดือนคาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมประมูล และเปิดประมูลได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ ที่น่าสนใจอีกประการคือ เงื่อนไขในการประมูลนั้นจะเลือกใช้กันระบบไหน แต่ที่กระทรวงพลังงานยืนยันมาแล้วคือ ใช้ระบบสัมปทาน และ ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการกำหนดระบบ ที่มีการระบุว่าจะต้องเลือกระบบที่สามารถประมูลได้ง่าย และต้องชี้แจงภาคประชาชนด้วย

บทเรียนที่ได้จากกรณีกฎหมายเจ้าปัญหาครั้งนี้ นอกจากฝ่ายผู้มีอำนาจต้องพึงระวังในการนำเสนอกฎหมายที่อ่อนไหวแล้ว คงเป็นเรื่องท่าทีของฝ่ายผู้มีอำนาจเองที่ดำเนินการต่อฝ่ายต่อต้าน(ทั้งที่เป็นพวกเดียวกันเอง) ที่เห็นได้ชัดว่ามีการใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะเข้ามาจัดการอย่างเด็ดขาด โดยแกนนำ 6 รายถูกจับกุมและนำตัวไปฟ้องศาลก่อนจะถูกปรับรายละ 3 พันบาท

ความเด็ดขาดดังกล่าวยืนยันโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศกร้าวขอร้องว่าการที่จะเสนอความคิดเห็นใดๆ ก็ตาม หรือจะให้รัฐบาลทราบความเดือดร้อนต่างๆ เชิญที่ศูนย์ดำรงธรรม อย่ามาล้อมทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการหรือเขตพระราชฐาน จำเป็นต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ได้ขู่ แต่ต้องรักษาระเบียบของบ้านเมือง หาก 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ได้แบบนี้ บ้านเมืองคงไม่ต้องเดินทางมาถึงจุดนี้

Back to top button