เปิดหุ้นแรงฉุดไม่อยู่เดือนมีนาคม 2558

ภาวะที่ไม่น่าลงทุนเนื่องจากกระดานหุ้นเปอร์เซ็นต์แดงมากกว่าเขียว ทำให้นักลงทุนตัดเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงกันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ก่อน เพราะมองว่าภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้ไม่น่าลงทุนเอาเสียเลย แต่เชื่อว่าไม่เป็นแทบทุกคน เนื่องจากบางรายยังคงชอบเล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นๆ และยังคงแสวงหาหุ้นรายตัวเพื่อลงทุน


เปิดหุ้นวิ่งสวนกระแสภาวะดัชนีทรุดหนักช่วงเดือนมีนาคม 2558 ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสวนทางดัชนีของตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงไป 6%

บรรยากาศช่วงเดือนมีนาคม 2558 ที่แสนหดหู่ยิงนัก เมื่อภาวะตลาดหุ้นไม่อำนวยสักเท่าไร เพราะตลาดหุ้นไทยยังคงขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้น พร้อมกับด้านลบเรื่องเศรษฐกิจไทยที่เริ่มต่ำลง ประกอบกับแรงกดดันจากข่าวต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 58 ลงมาปิดที่ 1,505.94 จุด ลบลงไป 81.07 จุด ลบไป 6% เมื่อเทียบกับดัชนีปิด ณ วันที่ 27 ก.พ. 58 อยู่ที่ 1,587.01 จุด

ภาวะที่ไม่น่าลงทุนเนื่องจากกระดานหุ้นเปอร์เซ็นต์แดงมากกว่าเขียว ทำให้นักลงทุนตัดเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงกันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ก่อน เพราะมองว่าภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้ไม่น่าลงทุนเอาเสียเลย แต่เชื่อว่าไม่เป็นแทบทุกคน เนื่องจากบางรายยังคงชอบเล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นๆ และยังคงแสวงหาหุ้นรายตัวเพื่อลงทุน

ข่าวหุ้นธุรกิจ ก็ไม่หยุดนิ่ง คอยแสวงหาหุ้นที่ยังคงทะเยอทะยานปรับตัวขึ้นสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้น พบว่ายังมีหุ้นหลายๆ ตัวที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทั้งเดือนมีนาคม 2558 โดยมีทั้งหมด 99 ตัว

 

ทั้งนี้ มีหุ้นที่น่าสนใจมากกว่าตัวอื่นๆ ในตารางอยู่ 8 ตัวด้วยกัน ซึ่งปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงเกิน 20% มีดังนี้

ตัวแรกเป็นหุ้น CPR หรือ บริษัท ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) ถือว่ามาแรงสุดๆ โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.86 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 5.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.89 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 48.96% อาจเป็นการเก็งกำไรเมื่อผลประกอบการสำหรับปี 57 ยังเติบโตดีจากธุรกิจยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลบวกต่อบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยาง และยางติดเหล็ก สำหรับใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยผลิตจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์

ตัวที่สองเป็นหุ้น SPPT หรือ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 2.64 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.52 บาท เพิ่มขึ้น 0.88 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 33.33% มองว่าที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเป็นการเข้าเก็งกำไรของนักลงทุน หลังไม่รู้จะเข้าหุ้นตัวไหนดี เพราะถ้าดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาหุ้นตัวนี้มักมาเร็วไปเร็ว

ตัวที่สามเป็นหุ้น MBAX หรือ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 4.40 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 5.80 บาท เพิ่มขึ้น 1.40 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 31.82% ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นรับผลบวกจากผลการดำเนินงานสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 บริษัทมีกำไรเติบโตก้าวกระโดด ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 347%

ตัวที่สี่เป็นหุ้น TSTE หรือ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 18.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 23 บาท เพิ่มขึ้น 4.80 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 26.37% ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นรับผลบวกจากผลการดำเนินงานสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 บริษัทมีกำไรเติบโตก้าวกระโดดซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 467%

ตัวที่ห้าเป็นหุ้น PTG หรือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 8 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 9.95 บาท เพิ่มขึ้น 1.95 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 24.38% ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับการให้บริการน้ำมันที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสถานีให้บริการเดิมมีสัดส่วนของผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้รวมของบริษัทที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีให้บริการเป็นหลักเช่นเดิม

 

อีกทั้งมีการเก็งกำไรจากข่าวที่ว่าบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ กำลังการผลิตราว 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายใน 2-3 เดือนนี้

ตัวที่หกเป็นหุ้นPHOL หรือ บริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 4.04 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 4.98 บาท เพิ่มขึ้น 0.94 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 23.27%ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอาจเป็นผลจากเริ่มเห็นแนวโน้มธุรกิจที่ค่อยๆ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ตัวที่เจ็ดเป็นหุ้น GL หรือ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 8.80 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 10.80 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 22.37% จากที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น โดยข่าวบริษัทเป็นพันธมิตรกับ JTA ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ GL ในการขยายธุรกิจไปในอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมหาศาลจากยอดขายรถจักรยานยนต์ที่มากกว่าประเทศไทยถึง 4 เท่า อีกทั้งรวมโอกาสอีกมากในตลาดอินโดนีเซีย โดยคาดว่าปีนี้ตลาดที่กัมพูชาจะเป็นพระเอกนำการเติบโต

ตัวที่แปดหุ้น OFM หรือ บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) โดยวันที่ 27 ก.พ. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 49 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 58 ราคาหุ้นอยู่ที่ 59 บาท เพิ่มขึ้น 10 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 20.41% จากที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจากผลการดำเนินงานยังเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจยังคงขยายสาขาใหม่อยู่ อีกทั้งบริษัทเดินหน้าทำธุรกิจออนไลน์เต็มตัวในปีนี้ โดยเปิดตัวเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์อย่างเป็นทางการในปลายเดือนมี.ค. โดยจะทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบหลังเตรียมความพร้อมในปีที่ผ่านมา

ข้อมูลที่ปรากฏเป็นการวัดความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไกด์ไลน์ให้นักลงทุนเอาไว้พิจารณาในการลงทุนเดือนต่อไปได้

 

 

Back to top button