แรงขายหุ้นธนาคาร

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เมื่อวานนี้ แม้ว่าธนาคารกรุงไทยจะประกาศงบการเงินไตรมาสแรกของปีนี้ออกมา มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่าระยะเดียวกันปีก่อนมากถึง 13% และเติบโตจากไตรมาสก่อน 15% แต่แรงขายหุ้นธนาคารใหญ่ ก็ออกมาแรง ทำให้ฉุดดัชนีของตลาดลงไปติดลบมากถึง 7 จุดเศษ หลุดแนวรับลงมาใต้ 1,570 จุด ชนิดสัญญาณเทคนิคทำงานไม่ได้ชั่วคราว


พลวัต ปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เมื่อวานนี้ แม้ว่าธนาคารกรุงไทยจะประกาศงบการเงินไตรมาสแรกของปีนี้ออกมา มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่าระยะเดียวกันปีก่อนมากถึง 13% และเติบโตจากไตรมาสก่อน  15% แต่แรงขายหุ้นธนาคารใหญ่ ก็ออกมาแรง ทำให้ฉุดดัชนีของตลาดลงไปติดลบมากถึง 7 จุดเศษ หลุดแนวรับลงมาใต้ 1,570 จุด ชนิดสัญญาณเทคนิคทำงานไม่ได้ชั่วคราว

เหตุผลหลักของการเทขายหุ้นธนาคารที่จะประกาศงบภายในเย็นวันนี้ทั้งหมด เพราะมีคำอธิบายว่า ตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะรบกวนให้กำไรสุทธิไตรมาสสองของปีนี้เสียหายยิ่งขึ้น

คำอธิบายดังกล่าว มีเหตุผลที่รับฟังได้ เพราะปัจจุบัน การพิจารณาอนาคตของผลประกอบการหุ้นธนาคารนั้น ดูจากการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิไม่เพียงพอเสียแล้ว

โดยทั่วไป เวลาที่พิจารณาจุดเด่นด้อยของหุ้นธนาคารร่วมสมัย จะอาศัยตัวแปรหลายด้านประกอบกัน ได้แก่

1) ผลประกอบการในรูปรายได้ และกำไรสุทธิ (โดยเฉพาะหากลงลึกก็จะต้องดูอัตรากำไรสุทธิประกอบด้วย)

2) สุขภาพทางการเงินของลูกค้า อันได้แก่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการทั้งหลาย ที่เชื่อมโยงเข้ากับตัวเลขกำลังซื้อของผู้บ้ริโภค ที่ส่งผลเป็นห่วงโซ่ของลูกค้าธนาคาร

3) แนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารในการรับมือกับปัญหาของลูกค้าที่มีปัญหาทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา

4) ราคาหุ้นของธนาคารในปัจจุบัน เทียบกับพื้นฐานของหุ้นกลุ่มอื่นในตลาด หรืออุตสาหกรรมเดียวกันทั่วโลก

ดังที่ทราบกันดี 2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ได้รับการพูดถึงมากจากนักวิเคราะห์ เพราะ ในปัจจุบัน กฎที่เข้มงวดของบาเซิล 3 ทำให้ธนาคารถูกบังคับต้องตั้งสำรองในกรณีมีหนี้สงสัยจะสูญ (หรือพูดให้ไพเราะคือ สินเชื่อจัดชั้น หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ) ว่าด้วยอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ coverage ratio per NPL ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นว่ายิ่งมากยิ่งดี คือ ควรจะมากกว่า 150% หากต่ำกว่านี้ จะรบกวนความสามารถทำกำไรไปอีกหลายไตรมาสข้างหน้า

การตั้งสำรองส่วนนี้ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการรบกวนความสามารถทำกำไรของธนาคารค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจธนาคารมีอัตรากำไรสุทธิต่ำมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับธุรกิจการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร

หลายไตรมาสที่ผ่านมา (และคาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งรกของปีนี้) ตัวเลข NPL ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต จนทำให้เริ่มมีคำถามย้อนกลับมาว่า ยุคสมัยของการถดถอยของธนาคารกำลังหวนย้อนมา (หลังจากที่ฟื้นกลับแข็งแกร่งปลอดจากการขาดทุนเมื่อปี 2554 เป็นต้นมาเป็นเวลานานเกินกว่า 5 ปี)

ต้นปีนี้ การเพิ่มทุนของ CIMBT (หลังจากขาดทุนอย่างหนักจาก NPLs) ที่เป็นธนาคารขนาดเล็ก ทำให้ความกังวลเรื่องนี้เข้มข้นขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย

ปีที่ผ่านมาธนาคารขนาดกลางและเล็กส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าผิดหวัง เพราะมีกำไรสุทธิเติบโตต่ำลงมาก กำไรสุทธิที่เติบโตต่ำมาก มีคำอธิบายสารพัด แต่ที่หนีไม่พ้นก็คือ บรรดาลูกค้าที่เป็น SME ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้ไม่เพียงแต่ธนาคารจะทำกำไรลดลง หรือทรงตัว หรือเพิ่มต่ำกว่าคาดเท่านั้น หากยังส่งผลต่อปัญหาของธนาคารในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รบกวนการทำกำไรของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ

สาระสำคัญที่นักวิเคราะห์พูดถึงหุ้นของธนาคาร ทำให้นักลงทุนได้เห็นจุดเน้นสำคัญของสัดส่วนที่ช่วยให้มุมมองชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่

  • ตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพ GROSS NPL  ทั้งในปัจจุบันเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน และในอดีตเมื่อเทียบกับตัวเอง สินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีความหมายอันดับแรกสุด
  • สินเชื่อรวมต่อ NPL สัดส่วนของ NPL เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของแต่ละธนาคาร สะท้อนคุณภาพผู้บริหารในการปล่อยสินเชื่อ และการทวงหนี้
  • ตัวเลขการตั้งสำรองต่อ NPL ของธนาคาร ถือหลักว่า การตั้งสำรองสูงกว่า 100% ซึ่งทำให้มีความปลอดภัย เพราะมีกันชนสำรองให้ความปลอดภัยล่วงหน้าเอาไว้ ไม่ต้องมีปัญาหาขาดสภาพคล่อง แต่รบกวนกำไรสุทธิ

ว่ากันตามจริงแล้ว ความสามารถทำกำไรที่ถดถอยลงและ NPLS ที่มีขึ้น เป็นภาพสะท้อนว่าลูกค้าของธนาคารต่างหากที่ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสชนิดที่ปิดไม่มิด และสะท้อนออกมาในกำไรหรือ NPLs1 ของธนาคารอันเป็นปลายเหตุของปัญหา

การที่ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นมากทั้งจากรายได้ใหม่และเก่า รวมทั้งมีตัวเลขการเติบโตที่โดดเด่น บางครั้งมากกว่าธุรกิจในภาคการผลิตที่แท้จริง สำหรับคนบางกลุ่ม อาจจะถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเศรษฐกิจกำลังผันผวนอย่างรุนแรง

ความพยายามยกตัวเลขผลประกอบการที่สวยงามมาโปะไว้ข้างหน้ารายงานประกอบงบการเงิน เพื่อหลบซ่อนตัวเลขด้านลบ ทั้งที่รู้แล้วว่าไม่ได้ผล ก็ยังทำกันมาเรื่อยๆ ตามประสา เป็นแค่การเล่นซ่อนหาที่ล้มเหลวธรรมดาของผู้บริหารธนาคารที่บ้องตื้นเท่านั้น

นักวิเคราะห์  ผู้จัดการกองทุนหุ้น และต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนรายใหย่ส่วนบุคคลล้วนรู้ทันได้ไม่ยากในยุคสมัยนี้

Back to top button