โบรกฯ ชี้หุ้นแบงก์ฟื้นตัวช้า เหตุหนี้เสียเพิ่มขึ้นไม่หยุด!

โบรกฯ ชี้ผลการดำเนินงาน Q1/60 ในหุ้นกลุ่มแบงก์ฟื้นตัวช้า หลังได้รับแรงกดดันจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นและมีภาระการตั้งสำรองฯ ในระดับสูง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง SET และ mai ซึ่งอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/60 ช่วงวันที่ 17 เม.ย. ถึง 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่าผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่ในไตรมาสดังกล่าว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Q1/59) ยังคงฟื้นตัวไม่มากนัก หลังยังได้รับแรงกดดันจากสินเชื่อด้วยคุณภาพ (NPLs) ที่เพิ่มขึ้นและมีภาระการตั้งสำรองฯ ในระดับสูง

สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาแล้ว เรียกตามลำดับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้วยคุณภาพไตรมาส 1/60 เทียบกับ ณ สิ้นปี 59 ดังนี้ KTB, BBL, BAY, LHBANK, SCB, TMB, KKP, KBANK, TCAP, TISCO และ CIMBT

 

 

อันดับ 1 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.60 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 8.53 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.61 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 13.15% จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7.54 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.54 บาทต่อหุ้น

โดยไตรมาส 1/60 บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 479 ล้านบาท จากปีก่อนจากการบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 507 ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมธุรกิจบัตรและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ณ 31 มี.ค.60 จำนวน 100.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.25 พันล้านบาท จากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในบางอุตสาหกรรม ทำให้มี NPL Ratio (Gross) เท่ากับร้อยละ 4.36 ส่วน ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.97 และ NPL Ratio (Net) เท่ากับร้อยละ 1.94 ส่วน ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.81

 

อันดับ 2 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.60 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 8.30 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 4.35 บาทต่อหุ้น ลดลง 0.15% จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8.32 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 4.36 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินในไตรมาส 1/60 อยู่ที่ระดับที่ทรงตัว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5.81 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.16 พันล้านบาท จากปีก่อน 3.64 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 243 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 เป็นผลจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากลดลงตามการลดลงของต้นทุนเงินรับฝากประจำ

ขณะเดียวกันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 267 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ทั้งนี้บริษัทมีเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 7.78 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมเท่ากับ 3.5% ขณะที่ ณ สิ้นปี 59 เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 6.88 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 3.2%

 

อันดับ 3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.60 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5.64 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.77 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 9.60% จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5.15 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.70 บาทต่อหุ้น

โดยไตรมาส 1/60 บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอยู่ที่ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 332 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1.49 พันล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบจากปีก่อน และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 368 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 467 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาส 1/60 จํานวน 5.24 พันล้านบาท ลดลงจํานวน 128 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 จากไตรมาส 4/59 ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 3.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.30 พันล้านบาท จาก 3.48 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธ.ค.59 ทั้งนี้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นไตรมาส 1/60 อยู่ที่ร้อยละ 2.33   เทียบกับร้อยละ 2.21 ณ สิ้นปี 59

 

อันดับ 4 บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.60 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 586.63 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.043 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.65% จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 571.46 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.0419 บาทต่อหุ้น

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ 59.2 เนื่องจากธนาคารได้กันเงินสำรองไว้เป็นจำนวนมาก

ขณะที่ธนาคารมีสินเชื่อด้วยคุณภาพจำนวนจำนวน 2.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 162.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 59 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 1.48 ของเงินให้สินเชื่อรวมหลังหักสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดย ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.39 ส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าไตรมาสที่ 1/60 จำนวน 155 ล้านบาท ลดลงจำนวน 225 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/59 หรือลดลงร้อยละ 59.2 โดยสัดส่วนเงินสำรองพึงมีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ในสัดส่วนที่สูงที่ร้อยละ 185.16

 

อันดับ 5 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.60 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 1.19 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 3.50 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 13% จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.05 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 3.10 บาทต่อหุ้น

โดยไตรมาส 1/60 บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นมาที่ 2.26 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 4.1% จากปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อ 6.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาที่ 1.06 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 33.2% จากปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ดีขึ้นจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย

ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 5.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ 5.76 หมื่นล้านบาท โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 2.70% เพิ่มขึ้น 0.06% จาก ณ สิ้นปี 59  อยู่ที่ร้อยละ 2.67 ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเคหะและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยไตรมาส 1/60 ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5.01 พันล้านบาท หรือ 1.03% ของสินเชื่อรวม ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้จะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 133.4% ณ สิ้นไตรมาส 1/60 จาก 122.8 ณ สิ้นไตรมาส 1/59

 

ด้าน บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ไตรมาส 1/60 หุ้นกลุ่มธนาคาร 11 ตัวรายงานกำไร 5.2 หมื่นล้านบาท โต 8% จากปีก่อนและโต 5% จากไตรมาสก่อน โดยธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อได้แก่ KKP, TCAP และ TISCO มีอัตราการเติบโตของกำไรสูงกว่าแบงก์ขนาดใหญ่และกลาง

ขณะที่กลุ่มธนาคารยังมี NPL เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้า SME ที่มีโอกาสเป็น NPL สูงในกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดเล็ก และจากลูกค้ารายย่อยแม้อัตราการเกิดไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากแต่ยังมีภาระหนี้ครัวเรือนสะสมในระดับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำให้ยังเห็นภาพของการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับ Coverage Ratio

ทั้งนี้ KTB มี NPL เพิ่มขึ้น 10%YTD แต่ยังตั้งสำรองไม่มากนักและมี Coverage Ratio ลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในกลุ่ม (อยู่ที่ระดับ 112% ลดลงจาก 122% ณ ปลายปี 59 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มแบงก์ใหญ่ ณ ปลายปี 59 ที่ราว 130% – 140%) จึงคาดว่า KTB อาจมีการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือ ซึ่งภาระในการตั้งสำรองฯของแต่ละธนาคารทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเป็นแรงกดดันผลการดำเนินในช่วงที่เหลือของปีนี้

ด้านการเติบโตของสินเชื่อ ณ ปลายไตรมาสแรกของแต่ละธนาคารยังแผ่ว ทั้งนี้คาดแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงไตรมาส 2/60 ยังได้รับแรงกดดันจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นและมีภาระการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ทำให้ผลประกอบการทรงตัวจากปีก่อนหรือเติบโตไม่มากนัก จึงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “Underweight”

โดยเลือก KBANK และ SCB เป็นหุ้น Top Pick เนื่องจาก KBANK มี NPL เพิ่มขึ้นไม่มากจากการบริหารจัดการที่ดีแม้ว่าตลาดจะรับรู้ว่ามีสัดส่วนของสินเชื่อ SME ค่อนข้างสูงในกลุ่มแบงก์ใหญ่ ส่วน SCB แม้มีสินเชื่อเติบโตไม่มาก ณ ปลายไตรมาสแรก แต่หากปีนี้มีดีลขายเงินลงทุนบางส่วนใน SCBLIFE จะเป็นอัพไซต์จากประมาณการและทำให้มีกำไรสูงสุดในกลุ่ม

 

ขณะที่ บล.ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/60 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยประกาศออกมาหมด ส่วนใหญ่ออกมาดีแต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยประเด็นสำคัญที่ยังบ่งชี้ว่าพื้นฐานของกลุ่มธนาคารยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ คือ การเพิ่มขึ้นของตัวเลข NPL จนธนาคารส่วนใหญ่ต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม

นอกจากนี้การขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 1/60 ยังชะลอตัว บ่งชี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้ากว่าคาด อย่าง BBL ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่สุดของประเทศ สินเชื่อในไตรมาส 1/60 หดตัว 0.9% เทียบไตรมาส 4/59 สำหรับงบไตรมาส 1/60 ของธนาคารใหญ่อย่าง KTB, SCB, BBL และ KBANK พบว่า ออกมาในลักษณะกำไรประคับประคองทั้งเทียบกับปีก่อนและเทียบกับไตรมาส ขณะที่ตัวเลข NPL ยังปรับตัวขึ้น โดย SCB เพิ่มขึ้นน้อยสุดในบรรดาหุ้นใหญ่ แต่ที่ลดลงคือ KBANK

Back to top button