CPF ร่วงเกือบ 5% คาดกังวลข่าวสหรัฐฯกีดกันกุ้งแช่แข็งไทย

CPF ร่วงเกือบ 5% ต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี คาดกังวลข่าวสหรัฐฯกีดกันกุ้งแช่แข็งไทย โบรกฯชี้ผลกระทบยังจำกัดแนะเป็นโอกาสเข้าสะสม


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ณ เวลา 16.24 น. อยู่ที่ระดับ 26.00 บาท ลบ 1.25 บาท หรือ 4.59% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.02 พันลบ. ราคาร่วงหนักในรอบเกือบ 1 ปี โดยนับตั้งแต่หุ้นอยู่ที่ระดับ 26.00 บาท เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ประเด็นสหรัฐฯกีดกันกุ้งแช่แข็งไทย เชื่อผลกระทบยังจำกัด โดยประเด็นสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเรียกเก็บเงินประกันจากผู้นำเข้ากุ้งรายใหม่ของสหรัฐฯ ภายหลังจากการประเมินผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะ TU, CPF, CFRESH ในหลายๆ มิติแล้ว เชื่อว่าผลกระทบยังเป็นไปในทิศทางจำกัด เป็นแค่กระแสความกังวลเท่านั้น เป็นโอกาสให้ซื้อสะสมทั้ง CPF, TU

กุ้งไทยอาจโดนกีดกันทางการค้า

กระทรวงพาณิชย์ของไทยเปิดเผยว่าสินค้าหลายกลุ่ม รวมถึงกุ้งแช่แข็ง มีความเสี่ยงที่จะโดนสหรัฐฯเรียกเก็บเงินประกันจากผู้นำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ จะเก็บจากผู้นำเข้าสินค้ารายใหม่และผู้นำเข้าที่เลี่ยงจ่ายภาษี AD/CVD ประกอบด้วย Anti-Dumping (ภาษีเพื่อชดเชยการทุ่มตลาด) และ Countervailing duties (ภาษีเก็บจากการที่ประเทศคู่ค้ามีการอุดหนุนสินค้านั้นๆ) โดยผู้นำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ อาจเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วมรับภาระการวางเงินประกันด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของการส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ว่าจะเก็บอัตราเท่าไร แต่จะประกาศรายละเอียดดังกล่าวภายใน 90 วันหรือราววันที่ 8 ก.ค.60

ไทยเคยถูกเรียกเก็บภาษีและวางเงินประกันมาแล้วในช่วงปี 2547-52

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยเรียกเก็บภาษี AD สินค้ากุ้งแช่แข็งของไทย และให้มีการวางเงินประกันนำเข้ามาแล้วในช่วงปี 2547-52 เนื่องจากไทยส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯมากถึง 1.3 แสนตันในปี 2546 หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯในปี 2546 โดยสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากุ้งจากไทยในครั้งนั้นที่อัตรา 5.29-6.82% และกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องวางประกันเงินสดเท่ากับจำนวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในแต่ละ shipment และวางพันธบัตรเท่ากับจำนวนหลักประกันเป็นมูลค่าไม่เกิน 10% ของภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่เก็บในปีก่อนหน้า แต่ไม่เกิน 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

เชื่อผลกระทบต่อ TU, CPF, CFRESH จำกัด

ฝ่ายวิจัยประเมินผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยที่ศึกษาทั้ง TU และ CPF จะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจาก 1) โดยปกติสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศอยู่แล้ว โดยคาดปริมาณส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปยังสหรัฐฯ ปี 2560 เท่ากับ 1 แสนตัน (ลดลงจากระดับสูงสุดที่ราว 2 แสนตันในปี 2553 ก่อนเกิดโรคระบาด EMS ช่วงปลายปี 2555) คิดเป็นเพียง 15% ของปริมาณนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ (อิงข้อมูลปี 2559) 2) สัดส่วนรายได้จากการส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ ปี 2559 ของ TU และ CPF ค่อนข้างจำกัด โดย TU มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ 4% ของรายได้รวม CPF ต่ำเพียง 0.2% ของรายได้รวม หรือราว 800 ล้านบาท มีเพียง CFRESH ที่สัดส่วนรายได้จากการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ สูงสุดถึง 15% ของรายได้รวม และ 3) ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำของทั้ง TU, CPF, CFRESH อยู่แล้ว  อาทิ  TU มี Chicken of the sea frozen foods และ Red lobster เป็นลูกค้าหลัก นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นลูกค้ารายใหม่ อาจสร้างความกังวลเกี่ยวกับการเปิดตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ  ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผลผลิตกุ้งของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เท่ากับระดับปกติก่อนเกิดโรคระบาด EMSที่เคยผลิตได้ถึง 6 แสนตัน/ปี ประเด็นนี้จึงยังไม่น่ากังวลนัก ส่วนแนวโน้มการผลักภาระการวางเงินประกันมาให้กับผู้ส่งออกกุ้งไทย เชื่อว่าผลกระทบจำกัดเช่นกัน เมื่อเทียบกับฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมากของทั้ง TU, CPF, CFRESH

เป็นแค่กระแสความกังวล เป็นโอกาสให้ซื้อสะสมทั้ง CPF, TU  

คงน้ำหนักลงทุนมากกว่าตลาด นอกจากประเด็นผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าจากสหรัฐฯที่ค่อนข้างจำกัด ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ตลาดส่งออกไก่ของไทยที่เป็นไปในทิศทางที่สดใสมาก ราคาหุ้นปรับฐาน เป็นโอกาสให้ซื้อสะสมทั้ง CPF([email protected]) และ TU(FV@B23)

Back to top button