SCB ถึงเวลา “ฉลาดขาย” รอบใหม่

นานหลายปีมาแล้วที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ไม่ได้ขายบริษัทใต้ร่มธงออกจากมือ เพราะกำไรจากการดำเนินงานโดดเด่น จนไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการขายทรัพย์สินออกไปเพื่อสร้างรายได้และกำไรพิเศษ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

นานหลายปีมาแล้วที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ไม่ได้ขายบริษัทใต้ร่มธงออกจากมือ เพราะกำไรจากการดำเนินงานโดดเด่น จนไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการขายทรัพย์สินออกไปเพื่อสร้างรายได้และกำไรพิเศษ

เพิ่งจะมีในปีที่ผ่านมา ที่ SCB จำต้องขายหุ้นที่ถือทั้งหมดในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ออกไปให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 9.09 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 491.76 บาท ซึ่งเป็นราคา “เอื้ออาทร” สูงกว่าราคาบนกระดาน ได้รับเงินจากการขายหุ้น 4.47 พันล้านบาท เพื่อนำมาแก้ขัดใช้ชดเชยการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจาก กรณี บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ที่เป็นลูกหนี้ขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนในประเทศอังกฤษ (SSI UK) ทำให้ SCB ต้องตั้งสำรองมูลหนี้ดังกล่าวราว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำชับ

จะบอกว่าขายเพราะจำเป็นจริงๆ…ไม่จำเป็นไม่ทำ…ก็คงว่าได้

มาปีนี้ สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นเลวร้าย แม้ว่าตัวเลขหนี้ NPLs จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงมีกำไรอันดับหนึ่งของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่เหมือนเดิม แต่ข่าวการขายทรัพย์สินในมือที่เคยร้างลาไปนานก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง

ครั้งนี้สมบัติในมือที่ SCB จะขาย ก็เคยเป็น “เพชร 24 กะรัต”…นั่นคือธุรกิจประกันชีวิต ที่เคยหวงแหนสุดชีวิตมานาน คือ บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ  SCBLIFE

บริษัทนี้ แม้จะมีฐานะและชื่อชั้นเป็นบริษัทมหาชน แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่แน่นอน เพราะ SCB ถือหุ้นอยู่รวม 99.17% ที่เหลือก็ไม่มีความหมายอะไร

SCB ต้องการขายหุ้น SCBLIFE ให้พันธมิตรประมาณ 49% ไม่ใช่การขายทิ้งทั้งหมด ในขณะที่ SCB ก็ยังคงถือหุ้นที่ระดับอีก 49% ต่อไป เพียงแต่มอบอำนาจให้กับพันธมิตรบริหารกิจการเต็มที่ เพราะเป้าหมายของการขายทรัพย์สิน มุ่งเป้าไปที่เร่งหาพันธมิตรจากต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตเผชิญกับแรงกดดันจากการควบคุมที่เข้มงวดจากภาครัฐ และการแข่งขันในตลาดประกันชีวิตที่ดุเดือด

โมเดลการขายทรัพย์สินบางส่วนที่ต้องการให้พันธมิตรมาเร่งการเติบโตให้เร็วขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ SCB เคยกระทำมาแล้วหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ในปี 2543 มีการเปิดทางให้ นิวยอร์คไลฟ์ อินชัวรันส์ ของสหรัฐเข้ามาร่วม (ผ่านบริษัท นิวยอร์คไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แอลแอลซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือหุ้น 23.89% กับบริษัทไทยที่ร่วมลงทุนกับบริษัทนิวยอร์คไลฟ์ ซึ่งถือหุ้นอีก 23.44%) โดย SCB ถือหุ้น 47.33% ใกล้เคียงกันกับแนวทางล่าสุด ที่กำลังจะย้อนรอยเดิม

ช่วงเวลากว่า 10 ปี ภายใต้ชื่อ SCNYL ผู้บริหารของนิวยอร์คไลฟ์ฯ ได้มีส่วนช่วยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง ผ่านธุรกรรม  Bancassurance  จนเมื่อต้นปี 2553 SCNYL มีเบี้ยประกันรับสุทธิรวมมากกว่า 24,000 ล้านบาท และมีเบี้ยปีแรก 9,568 ล้านบาท เติบโตอย่างมากจากปี 2543 ที่มีเบี้ยปีแรกเพียง 300 ล้านบาท มีอัตราการเจริญเติบโตที่โดดเด่นและสูงกว่าตลาดมาตลอด มีเบี้ยรับรวม ณ สิ้นปี 2553 อยู่ที่ 24,554.7 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 8.3% อยู่ในอันดับที่ 5 ของตลาดรวม ในขณะที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ 8,605.1 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 9.2% อยู่ในอันดับ 5 เช่นเดียวกัน

พันธมิตรกับนิวยอร์คไลฟ์ อินชัวรันส์ สิ้นสุดลงเมื่อ SCB เจรจาขอซื้อกิจการทั้งหมดคืนจากผู้ร่วมทุน ในวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 8,400 ล้านบาท หรือประมาณ 266.89 บาทต่อหุ้น

แม้การซื้อคืนกิจการครั้งนั้น ใช้วงเงินไม่น้อย แต่เป็นการ “ฉลาดซื้อ” อย่างยิ่ง เพราะการถือหุ้น SCNYL เพิ่มอีก 47% จะมีผลทำให้กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้น 3.5% สามารถรับรู้กำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากการที่ผลการดำเนินงานของ SCNYL ปรับตัวดีขึ้นมาโดยตลอดนับจากปี 2548

การซื้อกิจการคืนมา และเปลี่ยนชื่อเป็น SCBLIFE ซึ่งถือว่าต่อมายังคงเป็น “ลูกรักหัวแถว” ยาวนานหลายปี มาถึงจุด “สะดุดหัวคะมำ” ในต้นปี 2559 เมื่อทางการโดย คปภ.ได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยและประกันชีวิตเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีใหม่ทั้งระบบ โดยให้คำนวณสำรองประกันชีวิตและมีการจัดประเภทรายการเงินลงทุน ซึ่งทำให้งบการเงินของ SCBLIFE ปรากฏเป็นตัวเลขชวนสยองคือ รายจ่ายจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีเพียงแค่ 8,889 พันล้านบาท ได้พุ่งขึ้นไตรมาสนี้เป็น 2.722 หมื่นล้านบาท

ผลลัพธ์ตามมาทันทีในไตรมาสแรกของปี 2559 ทำให้ SCBLIFE ปรากฏตัวเลขตั้งสำรอง “หนี้สูญ หรือหนี้สงสัยจะสูญ และการขาดทุนจากการด้อยค่า” ที่เพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อน 3.600 พันล้านบาท มาเป็น 5.010 พันล้านบาท ส่งผลต่อการทำกำไรของ SCB วูบทันที

การถือหุ้นใหญ่ 99.17% ใน SCBLIFE จึงกลับกลายเป็น “ทุกขลาภ” ในทันที

แรงกดดันนี้ ทำให้ต้องย้อนรอยเดิม ด้วยการหาพันธมิตรต่างประเทศเข้ามา ทั้งเพื่อกระจายความเสี่ยงและช่วยให้กำไรของ SCBLIFE เติบโตได้กว่าปัจจุบัน ….แต่ระดับซีอีโอใหญ่ที่เก่งด้านดีลเมกกิ้งชั้นเซียนเรียกพี่ อย่าง อาทิตย์ นันทวิทยา คงไม่ได้ขายแบบซี้ซั้วแน่นอน

จากการตีมูลค่าหุ้นเบื้องต้นของ SCBLIFE ไว้ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท หากขายไป 49% ของที่ถืออยู่ก็จะได้เงินมาประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทหลังหักภาษีและทุกอย่างหมดแล้ว โดยมีคนที่สนใจเข้าร่วมยื่นข้อเสนอซื้อ 3 รายใหญ่ ได้แก่ 1) บริษัทประกันกลุ่ม เอไอเอ เมนูไลฟ์ (Manulife) 2) บริษัทพรูเด็นเชียล และ 3) FWD กรุ๊ปจากฮ่องกงที่โยงใยกับ แปซิฟิก เซ็นจูรี กรุ๊ป ของลูกชาย ลี-กา ชิง

หากขายได้มูลค่าตามเป้า ก็ถือว่า “ฉลาดขาย” อีกครั้ง

กำไรจากการดำเนินงานปกติปีนี้ จะลดหรือเพิ่ม ก็ไม่ต้องห่วงอีกแล้ว

“อิ อิ อิ”

Back to top button