CKP จ่อปิดดีลโครงการพลังน้ำขนาดใหญ่กว่าแสนลบ. ในลาว H2/60

CKP จ่อปิดดีลโครงการพลังน้ำขนาดใหญ่ มูลค่า 1.3 แสนลบ. ในลาวช่วง H2/60 เตรียมเข้าประมูลโครงการพลังงานความร้อนร่วม-โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนราชการและสหกรณ์


นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปการได้ขอสิทธิสัมปทานโครงการพัฒนาพลังน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาตรงกับรัฐบาลของ สปป.ลาว ในช่วงครึ่งหลังปี 60 โดยโครงการดังกล่าวมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโครงการไซยะบุรีที่มีขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ โดยใช้เงินลงทุน (รวมเงินกู้) ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากเจรจาสำเร็จก็จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและสำรวจพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ในระหว่างนั้นบริษัทก็จะเจรจาหาพันธมิตรเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ โดย CKP ต้องการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 30% ทั้งนี้ ขึ้นกับเงินทุนที่มีอยู่ด้วย

ส่วนโครงการพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งปัจจุบัน CKP ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 30% โดยยังเหลือเงินที่ต้องลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นอีกกว่า 3 พันล้านบาทก่อนจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน ต.ค.62 ขณะที่ CKP มีแผนจะเจรจาซื้อหุ้นโครงการไซยะบุรีในส่วนที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM) ที่ถืออยู่ราว 7.5% ก่อนจะถึงกำหนด COD ซึ่งคาดว่าจะใช้กระแสเงินสดและการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้

ทั้งนี้คาดว่าจะติดตั้งและผลิตไฟฟ้าสำหรับ Unit 1 ของโครงการพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) ในช่วงปลายปี 61 และจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแต่เฟสของการพัฒนาโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โครงการเสร็จสิ้นทั้งหมด ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วย 7 Unit สัญญาขายไฟฟ้า 29 ปี ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าไป 80% และความเสี่ยงของานก่อสร้างหลักไม่มีแล้ว

สำหรับโครงการในอนาคตนั้น ในส่วนของโครงการในประเทศ บริษัทพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานความร้อนร่วม รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนราชการและสหกรณ์ ขณะที่โครงการในต่างประเทศ บริษัทเห็นว่า สปป.ลาวมีศักยภาพโครงการพลังงานน้ำ และบริษัทได้เจรจาตรงกับรัฐบาล สปป.ลาว โดยที่ผ่านมาบริษัทมีประวัติที่เคยทำมา 2 โครงการ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่ารัฐบาล สปป.ลาวให้เก็บข้อมูล นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นศักยภาพในเมียนมาด้วย ทั้งนี้ CKP ยังคงเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต 2,160 เมกะวัตต์

ส่วนผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ คาดว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีหลังปีจะดีกว่าครึ่งแรก เนื่องจากโครงการไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม (Cogeneration) แห่งที่ 2 (BIC2) ที่มีกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในเดือน มิ.ย. 60 คาดจะรับรู้รายได้ใกล้เคียงกับ BIC1 ที่รับรู้รายได้ราว 2 พันล้านบาท

ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร CKP เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะมีกำไรทุกไตรมาสของปี 60 ส่วนการจัดหาเงินทุน ปีนี้ CKP จะให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้ คาดว่าจะทำให้มีต้นทุนการเงินดีขึ้นหลังมีผลการจัดอับเครดิต

โดยปีก่อน CKP ได้ออกหุ้นกู้แบบไม่มีอันดับเครดิต อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% และยังเหลือวงเงินที่สามารถออกหุ้นกู้ได้อีก 6 พันล้านบาท ส่วนโครงการใหม่นั้นจะมีการตั้งบริษัทลูกมาบริหารและเป็นผู้กู้ โดยใช้ตัวโครงการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน อนึ่ง CKP มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.94 เท่า ณ สิ้นปี 59

Back to top button