ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป

เช้าวันนี้ โลกคงรับรู้ผลการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ของฝรั่งเศส ระหว่างผู้ชิงตำแหน่งซึ่งได้รับคะแนนโหวตสูงสุด 2 อันดับแรกในการเลือกตั้งรอบแรก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว แม้อาจจะไม่เป็นทางการ แต่ว่ามีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในทันที ไม่ต้องรอผลทางการ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

เช้าวันนี้ โลกคงรับรู้ผลการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ของฝรั่งเศส ระหว่างผู้ชิงตำแหน่งซึ่งได้รับคะแนนโหวตสูงสุด 2 อันดับแรกในการเลือกตั้งรอบแรก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว แม้อาจจะไม่เป็นทางการ แต่ว่ามีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในทันที ไม่ต้องรอผลทางการ

เท่ากับว่าจากนี้ไปอีก 7 ปีข้างหน้า ฝรั่งเศสจะเปลี่ยนไปเป็นยุคสมัยของ คนใดคนหนึ่งระหว่าง นายเอมมานูเอล มาครอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวคิดสายกลาง และนางมารีน เลอเปน จากพรรค National Front (FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมขวาจัด และหนุนให้ฝรั่งเศสแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU)

ไม่ว่าใครจะได้ชัยชนะ แต่ถือเป็นการปิดฉากของนายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฝรั่งเศส ที่มาจากพรรคสังคมนิยม แต่แทบจะไม่ได้ใช้นโยบายตามอุดมการณ์พรรคอย่างเข้มข้นเลย เพราถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ไม่สามารถทำในแบบเดิมได้จากการที่มีกฎกติกาของสหภาพยุโรป และยูโรโซนเกิดขึ้น

นักวิเคราะห์และสื่อจำนวนมากของยุโรป พยายามชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งวานนี้ ถือเป็นการชี้ชะตาอนาคตของยุโรป เนื่องจากเป็นการชิงชัยระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนการรวมตัวของยุโรป และ กลุ่มคนที่สนับสนุนให้ฝรั่งเศสแยกตัวออกจาก EU

ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนลงคะแนนจริง ระบุว่า นายมาครองจะคว้าชัยเหนือนางเลอ เปน เนื่องจากนายมาครองสามารถดึงคะแนนจากชาวฝรั่งเศสที่โหวตเลือกผู้สมัครรายอื่นในการเลือกตั้งรอบแรก แต่ก็มีคนแย้งว่า ผลการเลือกตั้งอาจออกมาสูสีกว่าผลสำรวจความคิดเห็น หากผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากที่เบื่อหน่ายหรือรู้สึกไม่พอใจกับการเมืองในปัจจุบัน เลือกที่จะงดออกเสียงและไม่ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งวันนี้

การเลือกตั้งวานนี้มีขึ้นท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายใจกลางกรุงปารีส เมื่อวันที่ 20 เมษายน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีก 2 ราย โดยกลุ่มรัฐอิสลามได้ออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ว่ากันตามจริงแล้ว การเลือกตั้งนี้ อาจจะเป็นการการเปลี่ยนหน้าบุคคลตามธรรมดา เพราะฝรั่งเศสในฐานะ 1 ใน 2 “เสาหลัก” ของสหภาพยุโรป และยูโรโซน เคียงข้างเยอรมนี มาตั้งแต่แรกเริ่ม ได้ผ่านการต่อสู้ทางความคิดมายาวนานอย่างเข้มข้นมาตลอดจนเกิดฉันทามติที่สอดรับกับ ปรัชญารากฐานของ Ventotene Manifesto 1941 ที่สืบทอดต่อมาโดย Club Crocodile เพื่อสร้างสหพันธรัฐยุโรป หรือ สหภาพ ที่มีเจตจำนงว่าเป็น “รัฐเหนือชาติ” แก้ปัญหาสันติภาพยุโรปดีกว่า ต้นแบบของรัฐประชาชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย ค.ศ. 1648 ในอดีต

จุดเริ่มของรากฐานแนวคิดของสหภาพยุโรป (และยูโรโซนที่เป็นผลพวงตามมา) เกิดจากนักคิดของยุโรปโดยเฉพาะระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ปัญญาชนฝ่ายซ้าย 2 คนของอิตาลี อาเทียโร่ สปิเนลลี และ เออร์เนสโต้ รอสซี่ พบกันในที่คุมขังเชลยสงครามของฟัสซิสท์ที่เกาะเวนโตเตเน่ ชายฝั่งด้านตะวันตกของอิตาลีตอนกลาง ได้หารือกันในห้องขังอันยาวนานเพื่อหาทางออกจากต้นเหตุของสงครามที่ทำลายล้างผู้คน จนได้ข้อสรุปว่า ปัญหาของสงครามเกิดจากรากฐาน 2 อย่างคือ พลังคิดชาตินิยมคับแคบ และ อุดมการณ์ทางการเมืองที่คับแคบของขั้วที่แตกต่างกัน

รากเหง้าที่ฝังรากลึกทั้ง 2 ประเด็น ทำให้ยุโรปต้องสู่สภาวะสงครามโลกถึง 2 ครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาติในยุโรปและทั่วโลก โดยที่สงครามโลกครั้งแรกเกิดจากการแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลและผลประโยชน์เหนือคาบสมุทรบอลข่านของชาติใหญ่ในยุโรปหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เกิดจากการแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลเหนือคาบสมุทรบอลติก โดยมีผลประโยชน์ในเอเชียตะวันออกผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมขับเคลื่อนด้วยให้ขยายวงกว้างกว่าเดิม

จากคำถามหลักคือยุโรปจะฝ่าออกจากความขัดแย้งใหญ่ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สามได้หรือไม่ เป็นจุดเริ่มของคำตอบในการออกจากเขาวงกตของสงครามในยุโรปว่า ต้องสร้างยุโรปใหม่ที่ “ข้ามรัฐ” และ “ข้ามอุดมการณ์” เพื่อก่อรูปเป็นสหพันธรัฐ หรือสหภาพ ซึ่งทุกชาติถูกผูกพันด้วยข้อกำหนดที่เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างสหพันธรัฐภายใต้ชื่อ “สหภาพยุโรป” ที่ปลอดสงคราม

ความพยายามยาวนานและวกวน ทำให้สหภาพยุโรป และยูโรโซน (โดยมีสัญลักษณ์สำคัญยิ่งคือเงินยูโร) ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะเครื่องมือทางการเมือง ผลลัพธ์คือ เศรษฐกิจถูกนำไปรับใช้การเมือง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและอื่นๆ จะต้องนำปัจจัยทางการเมืองมาใช้ควบคู่เสมอมา และล้วนถือเป็นการทดสองเอกภาพของสหภาพยุโรปโดยปริยาย

ภายใต้สหภาพยุโรป มีบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าที่ตอกย้ำว่า รัฐชาติที่มีรัฐบาลแบบอุดมการณ์เข้มข้นไม่ว่าแบบไหน ล้วนไปด้วยกันไม่ได้กับสหพันธรัฐแบบเหนือชาติของสหภาพยุโรป ซึ่งมีแกนหลักคือฝรั่งเศส และเยอรมนี

การมีสหภาพยุโรป จึงมีส่วนทำให้ฝรั่งเศสสามารถแสดงบทบาทผู้นำร่วมของยุโรปได้ แม้ว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์เต็มที่ตามความปรารถนาทั้งหมด แต่ก็เป็นฐานะที่ดีกว่าจะเติบโตโดยลำพังบนความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่สงครามแบบในอดีต ซึ่งไม่มีใครปรารถนา

ดังนั้น ไม่ว่านายมาครอง หรือ นางเลอเปน จะได้รับชัยชนะ สหภาพยุโรปที่มีฝรั่งเศสเป็นสมาชิกสำคัญต่อไป ก็จะเดินหน้าท้าทายแนวคิดชาตินิยมคับแคบ แม้จะมีวิกฤตเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวระหว่างทาง 

Back to top button