พาราสาวะถี

การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนของกองทัพเรือ คงต้องจบเหมือนอย่างที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับนักข่าวห้ามถามเรื่องนี้อีกกระมัง แม้ ศรีสุวรรณ จรรยา จะไปยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบว่าการที่เสนาธิการทหารเรือไปเซ็นสัญญากับบริษัทตัวแทนรัฐบาลจีนอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ต้องให้ขอความเห็นชอบจากสนช.ก่อนก็ตาม


อรชุน

การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนของกองทัพเรือ คงต้องจบเหมือนอย่างที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับนักข่าวห้ามถามเรื่องนี้อีกกระมัง แม้ ศรีสุวรรณ จรรยา จะไปยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบว่าการที่เสนาธิการทหารเรือไปเซ็นสัญญากับบริษัทตัวแทนรัฐบาลจีนอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ต้องให้ขอความเห็นชอบจากสนช.ก่อนก็ตาม

เหตุที่บอกว่าจบเพราะ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ.ซึ่งเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญ ออกโรงยืนยันเองว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด พร้อมยกคำอธิบายประกอบ ตามมาตรา 178 นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกับเขตแดน เกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านการค้า และผลซึ่งจะตามมาหลังจากที่ประเทศไทยได้ไปทำสัญญานั้นๆ

พร้อมกับยืนยันด้วยว่า การซื้อเรือดำน้ำนั้นเป็นเรื่องปกติที่ทางรัฐบาลจะเห็นชอบได้อยู่แล้ว คงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนในอนาคตถ้าหากมีการเปลี่ยนวิธีการซื้อเรือดำน้ำเป็นวิธีแบบบาเตอร์เทรดก็คงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์ทางการค้าหรือเสียหายด้านดินแดน เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนวิธีการซื้อจากการใช้เงินเป็นการใช้ผลผลิตทางการเกษตรแลกเปลี่ยนเท่านั้น

การันตีโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องวินิจฉัยกันอีกแล้วมั้ง เพราะคนยกร่างกฎหมายบอกเองว่าไม่ขัด แล้วคนที่รับไปตีความจะมองเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นศรีสุวรรณ ก็ควรจะรีบไปถอนเรื่องมาเสียจะได้ไม่เสียเวลา เสียเที่ยว อย่างที่เคยบอกไปแล้ว นาทีนี้เอาใจช่วยให้กองทัพเรือเตรียมเงิน 700 ล้านบาทไปจ่ายงวดแรกก่อน ส่วนค่าผ่อนชำระอีกงวดละ 2,100 ล้านนั้นก็ว่ากันไป

ปัญหาเรื่องการตีความตามรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเฉพาะปมเรือดำน้ำ ล่าสุด เกิดความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือคตง. ที่นำโดย ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคตง. กับ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง. ปมเหตุมาจาก ผู้ว่าฯสตง.ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

โดยอ้างอิงคำสั่งดังกล่าวให้มีการเลือกคตง.ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทนคตง. ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งภายใน 180 วัน หลังคำสั่งดังกล่าวออกมาเมื่อวันที่  5 เมษายนและมีผลบังคับใช้ จึงเห็นว่าเมื่อ คตง.ชุดปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันหมดในวันที่ 25 กันยายนนี้ จึงทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะที่ต้องทำหน้าที่จัดให้มีการประชุมกรรมการสรรหาคตง. เพื่อวางหลักเกณฑ์และออกประกาศรับสมัครคตง.

หลังจากนั้นเลขาธิการวุฒิสภาจึงได้ทำหนังสือถึงองค์กรอิสระต่างๆ ให้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมกรรมการสรรหาคตง. ซึ่งกรรมการสรรหาดังกล่าวจะมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง และมีกรรมการประกอบด้วย ประธานสนช. ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ ซึ่งรวมถึงคตง.ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระที่จะต้องส่งคนมาเป็นกรรมการสรรหาด้วย

ปรากฏว่าหลังจากได้รับหนังสือดังกล่าว คตง.จึงได้เรียกประชุม ก่อนทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเรียกประชุมกรรมการสรรหาคตง.ชุดใหม่ โดยให้เหตุผลว่าคำสั่ง คสช.ที่ 23/2560 จริงๆ แล้วคตง.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ 26 กันยายนนี้ ยังไม่ถือว่าพ้นจากตำแหน่งตามวาระที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าว

รวมถึงเรื่องคุณสมบัติของคตง.ที่จะต้องตรงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ควรจะต้องรอให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำลังยกร่างอยู่  ขณะเดียวกันการที่สตง.กับเลขาธิการวุฒิสภาจะให้มีการประชุมกรรมการสรรหาคตง. เป็นการกระทำโดยที่ยังไม่เกิด จึงอาจต้องมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ก่อนจะระบุด้วยว่าหากมีการเปิดรับสมัครเลือกคตง. อาจทำให้มีกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดปัจจุบันบางคนลาออกไปสมัครคัดเลือก เพราะคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว ให้คตง.สามารถสมัครรับการคัดเลือกเข้ามาเป็น คตง.ได้อีก อาจทำให้การทำงานของคตง.ต้องหยุดลง เพราะมีคตง.ไม่ถึง 5 คน ซึ่งจะกระทบกับการตรวจเงินแผ่นดินโดยรวม

ไม่เพียงเท่านั้นทางประธานคตง.ยังได้ทำหนังสือไปถึงประธานกกต.บอกว่า สตง.ดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยมิได้เสนอให้คตง.พิจารณาก่อน ประเด็นนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าผู้ว่าฯสตง.ที่ทำหน้าที่เลขานุการคตง.กลับขัดแย้งกับคตง.เสียเอง แต่ก่อนที่เรื่องนี้จะลุกลามใหญ่โต คำตอบของ มีชัย ฤชุพันธุ์ น่าจะเป็นที่สิ้นสุด

เมื่อประธานกรธ.ยืนยันว่า จะต้องมีการสรรหาคตง.ใหม่ก่อนชุดเก่าหมดวาระ โดยไม่ต้องให้กฎหมายลูกที่ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินยกร่างแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ เช่นเดียวกับ คนที่เคยเป็นคตง.แล้วไม่สามารถสมัครใหม่ได้อีก พร้อมกับยืนยันด้วยว่าในการสรรหาคตง.ไม่จำเป็นต้องมีสตง.เป็นผู้แทน ไม่รู้ว่ามีการเขียนอย่างไรจึงมีผู้แทนจากสตง.เป็นกรรมการสรรหาด้วย

ฟังคำอธิบายจากมีชัยแล้ว จึงถึงบางอ้อเหตุที่ทำให้วุ่นก็คือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 ที่ดันไปเขียนคลุมเครือและคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้ประธานกรธ.จึงจะชงเรื่องให้มีการเขียนให้ชัดเจน กลายเป็นว่างานนี้เนติบริกรฝั่งรัฐบาลเกิดอาการมึนเสียเอง ส่วนปมความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าฯสตง.กับคตง.นั้น ท้ายที่สุดอาจต้องจัดการทั้งคู่ โดยผู้มีอำนาจจำเป็นต้องตัดใจแม้จะมีใครบางคนพยายามคอยเชลียร์ในหลายๆ เรื่องก็ตาม บางทีอาจต้องสอนให้พวกที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระแต่ทำตัวไม่อิสระได้รู้สำนึกเสียบ้าง

Back to top button