“วิน” ชี้กระทรวงการคลังเก็บภาษี “Term Fund” ไม่กระทบวงกว้าง

"วิน" ชี้คลังเก็บภาษี "Term Fund" ไม่กระทบวงกว้าง เหตุผู้ลงทุนเป็นลูกค้ารายใหญ่ลงทุนเพื่อทดแทนเงินฝาก มั่นใจคลังไม่เก็บภาษีกองทุนรูปแบบอื่นเพิ่มเติม


นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ถึงกรณีกระทรวงการคลังประกาศเตรียมจัดเก็บภาษี 15% จากเงินปันผลของกองทุนตราสารหนี้ในรูปแบบ Term Fund ว่า ผู้จัดการกองทุนรวมส่วนใหญ่ยินดีและสนับสนุนมาตรการของรัฐในการจัดเก็บภาษี 15% จากเงินปันผลของกองทุนตราสารหนี้ในรูปแบบ Term Fund เนื่องจากมองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีและทำให้จะเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้อุตสาหรรมกองทุนรวมได้รับประโยชน์จากการละเว้นภาษีก่อนหน้านี้มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ Term Fund เป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีการกำหนดอายุการลงทุนอย่างชัดเจน เมื่อครบกำหนดก็ขายตราสารหนี้ คืนเงินพร้อมให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันการคิดผลตอบแทนคาดหวังจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และเมื่อไม่มีการจัดเก็บภาษีจึงได้เปรียบกว่าเงินฝากพอสมควร อย่าไรก็ตามหากมีการจัดเก็บภาษี 15% ใน Term Fund ผลตอบแทนสุทธิจะสูงกว่าเงินฝากเพียงเล็กน้อย

“จากการคำนวณในเบื้องต้น หาก Term Fund ได้เงินปันผลประมาณ 1.5% เมื่อหักภาษี 15% จะอยู่ที่ประมาณ 1.2% ซึ่งยังคงสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเล็กน้อย จึงส่งผลกระทบต่อ Term Fund ในวงแคบ เนื่องจากปัจจุบัน Term Fund ในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท และผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ลงทุนใน Term Fund เพื่อทดแทนเงินฝาก ทั้งนี้อาจทำให้ Term Fund ได้รับความสนใจน้อยลง หลังผลตอบแทนจากการออมเงินฝากกับการออมเงินผ่านกองทุนรวมจะมีความแตกต่างกันน้อยลง ผู้ลงทุนจึงอาจจะเลือกการลงทุนแบบอื่นแทนได้”

นอกจากนี้ ยังมองว่าจะไม่มีการจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม เช่น Money Market Fund เนื่องจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยจึงมีจำนวนผู้ลงทุนค่อนข้างมาก รวมทั้งข้อมูลจากแผนวิเคราะห์ผลกระทบของสมาคมผู้จัดการกองทุนที่นำเสนอต่อกระทรวงการคลังพบว่า หากมีการจัดเก็บภาษี 15% ในกองทุนรวมจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกว่าการจัดเก็บภาษี 15% ใน Term Fund

ขณะเดียวกันกองทุนรวมยังเป็นช่องทางที่ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาลและถือเป็นการออมเงินระยะยาวสำหรับผู้ลงทุน ส่วนรัฐบาลยังได้รับประโยชน์จากกองทุนรวม โดยสามารถออกพันธบัตรมาจำหน่ายผ่านกองทุนรวมไปถึงมือประชาชน นอกจากนี้หากจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับ Term Fund อาจจะส่งกระทบผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกองทุนรวมจึงน่าจะยังเป็นประโยชน์และน่าจะสนับสนุนให้เป็นช่องทางการลงทุนของประชาชนต่อไป

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า หาก Term Fund ได้รับความสนใจน้อยลงและขาดสภาพคล่อง ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องหาวิธีดึงดูดใจนักลงทุนด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่ก็คือรัฐบาล ดังนั้น การที่รัฐบาลจะต้องเสนอผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนอีกครั้งจะคุ้มกับรายได้ที่รัฐบาลได้มาจากการจัดเก็บภาษี 15% ดังกล่าวหรือไม่

Back to top button