กลยุทธ์โมเมนตัม

น่าเสียดายที่มีนักลงทุนจำนวนน้อยแค่ 350 คนที่เข้าฟังเสวนาระหว่างผมที่ดำเนินรายการ กับคุณเผดิมภพ สงเคราะห์ นักวิเคราะห์มือเก่าที่คลุกคลีวงใจกับการผ่านร้อนผ่านหนาวในตลาดหุ้นไทยนานเกือบ 3 ทศวรรษ เลยพลาดฟังสาระดีๆ (ซึ่งคงไม่ใช่จากผมเป็นแน่) ที่คุณต้น หรือเผดิมภพนำมาฝาก ในการสัมมนาวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ทีมงานของ ไอ อาร์ เน็ตเวิร์ก บริษัทไออาร์อันดับหนึ่งของเมืองไทยยามนี้ ร่วมกับข่าวหุ้นธุรกิจ เป็นครั้งแรกของปีนี้


พลวัต2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

น่าเสียดายที่มีนักลงทุนจำนวนน้อยแค่ 350 คนที่เข้าฟังเสวนาระหว่างผมที่ดำเนินรายการ กับคุณเผดิมภพ สงเคราะห์ นักวิเคราะห์มือเก่าที่คลุกคลีวงใจกับการผ่านร้อนผ่านหนาวในตลาดหุ้นไทยนานเกือบ 3 ทศวรรษ เลยพลาดฟังสาระดีๆ (ซึ่งคงไม่ใช่จากผมเป็นแน่) ที่คุณต้น หรือเผดิมภพนำมาฝาก ในการสัมมนาวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ทีมงานของ ไอ อาร์ เน็ตเวิร์ก บริษัทไออาร์อันดับหนึ่งของเมืองไทยยามนี้ ร่วมกับข่าวหุ้นธุรกิจ เป็นครั้งแรกของปีนี้

สิ่งที่คุณเผดิมภพพูดเอาไว้ยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นข้อคิดและเตือนสติได้ล่วงหน้าดีมาก

คุณเผดิมภพบอกว่า โดยปกติแล้วจะไม่ค่อยออกงาน แต่ยามนี้จำต้องออกมาบ่อยครั้งขึ้นเพราะสถานการณ์ในอนาคต มีเรื่องต้องห่วงใยพอสมควร ไม่มากก็น้อย

โดยใช้ทฤษฎี “ลงทุนแบบโมเมนตัม” ตามรอยของพ่อมดการเงิน จอร์จ โซรอส คุณเผดิมภพนำเสนอว่า ภาวะตลาดหุ้นยามนี้ ที่อยากขึ้นก็ขึ้นไม่ได้ อยากลงก็ลงไม่ได้ รวมทั้งหุ้นหลายตัวมีผลประกอบการกำไรดี แต่ราคาร่วง บางตัวราคาวิ่งโดยไม่มีพื้นฐาน หาเหตุผลอธิบายลำบาก เป็นเรื่องที่สอดรับการสถานการณ์ในช่วงไซด์เวย์ของตลาดทั่วโลก

มองจากภาพรวม (ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจมากนัก) การที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น แต่จีดีพีของประเทศหลักและทั่วไปในโลกต่ำเตี้ย หรือโตช้ามาก เป็นสถานการณ์ที่บ่งบอกว่า สภาพคล่องของตลาดเก็งกำไรกำลังถดถอยลง แต่ยังจะไม่เกิดเป็นวิกฤต หากจะเคลื่อนไหวในลักษณะจะแกว่งและซึม รวมทั้งปริมาณซื้อขายถดถอยลง

วิกฤตจริงในมุมมองของคุณเผดิมภพ ที่อาศัยทฤษฎีลงทุนแบบโมเมนตัมของโซรอสมาจับกระแส จะเกิดขึ้นในปีหน้าหรือ พ.ศ. 2561 หรือค.ศ. 2018 แต่ไม่ถึงขั้นระบุถึงขั้นลงรายละเอียดว่า เดือนไหน วันไหน เท่านั้น เพราะไม่ใช่หมอดูระดับนอสตราดามุส

ดูเหมือนคุณเผดิมภพจะมองโลกปีหน้าในเชิงทั้งบวกและลบพร้อมกันอย่างตนมีประสบการณ์ คือ จะเกิดคนจนจำนวนมหาศาลที่ขาดทุนแบบยุคฟองสบู่แตก หรือ วิกฤตซับไพรม์ และในทางกลับกัน ก็จะมีมหาเศรษฐีหุ้นแบบวีไอรุ่นใหม่ (แบบเดียวกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรการ) เกิดขึ้นควบคู่กันไป เพียงแต่จะไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน

ฟังแค่นี้ สามารถเกิดปฏิกิริยา 3 ด้านพร้อมกัน ซึ่งเป็นไปตามปกติ คือ 1) คนฟังใจแป้ว อยากจะล้างพอร์ต 2) เห็นด้วย แล้วคิดจะถอนตัว เพื่อถือเงินสดไว้รอวิกฤตมาถึง เข้าข่าย ต่อเรือรอน้ำหลาก 3) ไม่เชื่อ และมองเห็นว่ายังเร็วเกินไป และปัจจุบันตลาดเก็งกำไร ก็มีเครื่องมือให้ทำกำไรช่วงขาลงได้บ้างมากขึ้น

ปฏิกิริยาทั้งสามด้าน มีโอกาสผิดและถูกได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นการคาดเดาล่วงหน้า เช่นเดียวกับคำทำนายแนวโน้มด้วยทฤษฎีของคุณเผดิมภพ โดยอาศัยประสบการณ์เคี่ยวกรำของผู้ชำนาญการด้านวิเคราะห์สถานการณ์ที่สุดคนหนึ่งในวงการหุ้น เนื่องจากอนาคตไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง

หากย้อนกลับไปตรวจสอบจอร์จ โซรอส จะพบว่า ทฤษฎีการลงทุนหลักของเขา มี 2 ทฤษฎีคือ ทฤษฎีว่าด้วยการลงทุนแบบโมเมนตัม (momentum investing) และทฤษฎีความยืดหยุ่น (reflexibility) แต่ดูเหมือนโซรอสจะเน้นทฤษฎีอย่างหลังมากกว่า

ทฤษฎี ลงทุนแบบโมเมนตัมในหุ้น คือ การหาข้อมูลเชิงปริมาณตามอนุกรมเวลาและพื้นฐานธุรกิจ ที่พิสูจน์จนได้ข้อสรุปว่า การวิ่งขึ้นหรือลงในอนาคตของราคาหุ้น มาจากฐานรากสำคัญของ อัตราการเติบโตของผลกำไรสุทธิในอดีตและปัจจุบัน บวกกับอัตราผลตอบแทนของส่วนผู้ถือหุ้น หักกลบด้วยอัตราส่วนทางการเงินสำคัญอื่นโดยเฉพาะค่าพี/อี เฉลี่ยล่วงหน้า หากแนวโน้มแข็งแกร่งโอกาสที่จะขึ้นหรือร่วงต่ำ ย่อมเป็นไปได้ แต่ในทางกลับกัน หากแนวโน้มพื้นฐานเปราะบาง โอกาสที่จะร่วงแรงหรือรีบาวด์กลับยาก เป็นไปได้

กุญแจสำคัญคือ นักลงทุนต้องแม่นยำและไม่ปล่อยให้อารมณ์หรืออคติส่วนตัวประนีประนอมกับโมเมนตัมของตลาด จนกลายเป็น “ชาวสวนที่ดื้อรั้นกับความเชื่อส่วนตัว”

ในด้านทฤษฎีความยืดหยุ่น โซรอสบอกว่าโอกาสทำกำไรในตลาดที่เสรี สามารถกระทำได้ทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลง โดยมองหาแนวโน้มของความเป็นไปได้ที่จะแรงเหวี่ยงที่เกินกว่าใครจะควบคุมได้เหนืออารมณ์ของตลาด แล้วทุ่มเงินสร้างกระแสเพื่อเร่งสถานการณ์ให้เป็นจริงเร็วขึ้น อย่างยืดหยุ่น เช่นทุบก่อนที่ราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์จะลง โดยกำหนดตำแหน่งเกมเป็น “ชอร์ต” และทุ่มเงินเข้าช้อนที่ราคาหลักทรัพย์ เพื่อสร้างกระแสใหม่ก่อนจะมีคนไล่ราคาตามเป็นขาขึ้น

การกระทำเพื่อลงทุนใต้กลยุทธ์ความยืดหยุ่น จะต้องอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยที่รอบคอบ และการจับกระแสนักลงทุนหรือ “อารมณ์ตลาด” ที่มักจะเคลื่อนไหวไปด้วยจิตวิทยาฝูงชน ตามอคติและกระแส “ความคลั่งไคล้ของฝูงชน” ชนิดแห่ตามกันที่บางครั้งหรือส่วนใหญ่หาเหตุผลยาก ทำนองเดียวกับข้อสรุปของทฤษฎี “หงส์ดำ” ของนัสซิม ทาเล็บ เมื่อสามปีก่อน

สาระสำคัญของกลยุทธ์ทั้งสองของโซรอสดังกล่าว ซึ่งมีคนพัฒนารายละเอียดเชิงกลยุทธ์เพิ่มเติมอีกมาก อยู่ที่การเน้นว่าโอกาสทำกำไรหรือขาดทุนมากๆ เมื่อตลาดเกิดแรงเหวี่ยงรุนแรงเกินระดับ”ปกติ” ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 3-12 เดือน แล้วแต่ความรุนแรงของแรงเหวี่ยง โดยในด้านกำไรแล้วจะประมาณโอกาสที่ถัวเฉลี่ยเดือนละ 1% ภายใต้ข้อแม้สำคัญคือจะต้อง แบกรับภาระการขาดทุนพร้อมกันไปด้วย หากสถานการณ์ตลาดเกิดผลลัพธ์ตรงข้ามการคาดเดา

ว่ากันไปแล้ว วิธีการลงทุนของโซรอส ก็คือการ “เสี่ยงสูง กำไรสูง”ธรรมดาเท่านั้นเอง แต่มีรายละเอียดมากมายที่ทำให้เกิดประสิทธิผลกว่าคนทั่วไป

ประวัติการลงทุนบางปีของโซรอสในจีนเร็วๆ นี้ ที่ขาดทุนยับเยิน โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015 ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสยดสยองไม่น้อย

กลยุทธ์โมเมนตัมของโซรอสที่คุณเผดิมภพ นำมาใช้อธิบายสถานการณ์การลงทุนสนตลาดหุ้นยามนี้และอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่พึงรับฟัง ตีให้แตก และใคร่ครวญ ไม่ได้บอกให้ต้องเชื่อทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยกระชากสติสตังคนในวงการที่กำลังงุนงงกับทิศทางเฉพาะหน้าได้พอสมควร

 

Back to top button