LH ไม่ใช่เสี่ยตึ๋ง

ในอดีตที่ผ่านมากว่า 20 ปี “อนันต์ อัศวโภคิน” ต้องถือว่าเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์กลุ่ม LH ที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 4 ราย


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ในอดีตที่ผ่านมากว่า 20 ปี “อนันต์ อัศวโภคิน” ต้องถือว่าเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์กลุ่ม LH ที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 4 ราย

จากนี้ไปจะไม่มีอีกแล้วหลังจากนายอนันต์ อัศวโภคิน หรือ เสี่ยตึ๋ง ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทในเครือ หลังจากที่ถูกข้อกล่าวหาร่วมกับวัดธรรมกาย ในการฟอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในฐานะที่เป็นคนกลาง รับซื้อที่ดิน ที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการ เอาเงินสหกรณ์เครดิตคลองจั่น มาซื้อที่ดินให้วัด แต่ดีเอสไอระบุว่า มีหลักฐานที่เชื่อว่าไม่มีการซื้อขายที่ดินจริง..!!

ข้อกล่าวหานี้ ยังไม่ยุติ แต่ข้อเท็จจริงเฉพาะหน้า ทำให้ความจำเป็นต้องหลบเรดาร์ ให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด

นี่คือ..วิกฤตรอบใหม่ของชีวิตที่นายอนันต์ จำต้องฝ่าฟันด้วยตัวเองในอนาคต แต่ไม่ใช่การผูกตัวเองเข้ากับเครือ LH ทั้งหมด

คำถามจากนี้ไปคือ ธุรกิจแลนด์แอนด์เฮ้าส์ทั้งเครือ จะเดินไปโดยไม่มีนายอนันต์ได้หรือไม่

คำตอบชัดเจนว่า ต้องได้ เพราะที่ผ่านมา “เสี่ยตึ๋ง” ในฐานะเป็นตัวแทนด้านภาพลักษณ์มาหลายปีแล้ว โดยทุกตำแหน่งบริษัทกลุ่มนี้ ล้วนเป็นมืออาชีพที่เคี่ยวกรำสึกมายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย

โดย “ขุมกำลังผู้บริหาร” ที่สำคัญของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เริ่มจาก LH มีอดิศร ธนนันท์นราพูล และนพร สุนทรจิตต์เจริญ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วน QH มีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ และสุวรรณา พุทธประสาท ดำรงตำแหน่งกรรมการ

ส่วน HMPRO มีคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และ LHBANK มีรัตน์ พานิชพันธ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และศศิธร พงศธร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

นับแต่นายอนันต์ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534 ธุรกิจในเครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีการแตกสาขาเติบใหญ่เป็นอันมาก มีทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เช่น โฮมโปร สยามธานี เรียลเอสเตท และธุรกิจการเงิน เช่น แอลเอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัทหลักทรัพย์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ในฐานะผู้ที่มีวิสัยทัศน์ “เสี่ยตึ๋ง” ได้ใช้ประสบการณ์นำร่องชี้แนวทางมากกว่าลงมือด้วยตนเองมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทิศทางธุรกิจที่เกี่ยวกับการเติบโตของยอดสร้างบ้านและคอนโดมิเนียม

รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคในการศึกษาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทำให้ต้องนำระบบเทคโนโลยีสื่อสารมาปรับใช้ให้มากขึ้นและมีแผนให้พนักงานทำงานที่บ้าน และส่งงานที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักให้ข้างนอกบริหารแทน

กลยุทธ์ที่เคยฮือฮาในอดีตของ “เสี่ยตึ๋ง” ในยามวิกฤตต้มยำกุ้ง คือกลยุทธ์ “สร้างบ้านใหม่ เสร็จก่อนขาย” ที่เป็นไม้เด็ดสำคัญ ที่แม้ว่าอาจพ้นยุคไปแล้ว แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นอนาคต เพราะอนาคตของ “เสี่ยตึ๋ง” และ LH อาจไม่เดินไปด้วยกันเหมือนเดิมอีกแล้วนับจากนี้ไป..!???

Back to top button