AMATA บวกกว่า 3% จ่อรับผลดี EEC โบรกฯแนะซื้อ ชูเป้า 23 บ.

AMATA บวกกว่า 3% จ่อรับผลดีโครงการ EEC ล่าสุด ณ เวลา 10.57 น. อยู่ที่ระดับ 16.00 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 3.23% สูงสุด 16.30 บาท ต่ำสุด 15.90 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 39.60 ล้านบาท ด้าน บล.ธนชาต แนะซื้อ ชูเป้า 23 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราคาหุ้นบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ล่าสุด ณ เวลา 10.57 น. อยู่ที่ระดับ 16.00 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 3.23% สูงสุด 16.30 บาท ต่ำสุด 15.90 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 39.60 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.16%

โดย บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำซื้อ AMATA ให้ราคาเป้าหมาย 23 บาท โดยนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หนุนยอดขายที่ดินในระยะยาว และราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลดีต่อ NAV ล่าสุด AMATA มีที่ดินในมือ 10,000 ไร่ ปรับราคาที่ดินขึ้น 13-19% ในปีก่อน

ขณะที่ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ AMATA จัดให้เป็นหุ้น top pick จากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้มีโอกาสปรับเป้าการขายที่ดินขึ้น ขณะที่มีปัจจุบันมียอดขายรอโอน (backlog) ราว 1,157 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีแนวโน้มจะแล้วเสร็จต.ค. หลังต้องปรับแก้รายละเอียดใหม่ก่อนเข้าสู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่กองทุนเอสเอ็มอีเตรียมปล่อยกู้ 1.2 หมื่นล้านบาทในเดือนมิ.ย. ทำให้ประเมินว่านิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ในภาคตะวันออกจะได้ประโยชน์จากยอดขายที่ดินและการลงทุนที่จะเกิดขึ้น โดยหุ้นเด่นคือ AMATA ขณะที่หุ้นอื่นที่อาจได้ผลดี อาทิ ROJNA, EASTW และ WHA

ด้าน นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาดของ AMATA เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะเติบโตมากกว่าปีก่อน จากปีก่อนทำได้ 5,057 ล้านบาท โดยคงเป้าหมายยอดขายปีนี้ที่ 1,000 ไร่ แม้ในไตรมาส 1/60 จะสามารถขายที่ดินได้เพียง 63 ไร่ โดยคาดว่าในไตรมาส 2/60 ยอดขายจะเติบโต เนื่องจากปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขายที่ดินจำนวนหลายร้อยไร่ให้แก่ลูกค้าหลายรายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ,จีน,ยุโรป,เกาหลี เป็นต้น โดยปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอโอนอยู่ราว 1,157 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้บางส่วน

ทั้งนี้บริษัทมองว่าหากโครงการ EEC เกิดขึ้นจริงก็น่าจะส่งผลดีทำให้เกิดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งบริษัทก็น่าจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยขั้นตอนของกฎหมายที่จะออกมารองรับโครงการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษีกา จากนั้นจะเสนอให้ครม. พิจารณาและนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกาศใช้ต่อไป

Back to top button