คลื่น 2300 MHz กู้ชีพ DTAC ลุ้นทะยานแตะเป้า 50 บ.

DTAC รอดตาย! คว้าดีลคลื่นความถี่ 2300 MHz เพียงรายเดียว คาดหนุนผลงานฟื้นตัวแกร่ง โบรกฯชี้ค่าใช้จ่ายต่ำ - ลดความเสี่ยงเรื่องคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800MHz ที่กำลังจะหมดอายุในปีหน้า พร้อมลุ้นราคาทะยานแตะเป้า 50 บาท พ่วงอัพไซต์กระฉูด


จากกรณีที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้รับคัดเลือกให้เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เป็นระยะเวลา 8 ปี นั้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกในการช่วยเพิ่มจำนวนคลื่นความถี่ที่บริษัทถือครองอยู่ แต่จะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ที่มีอยู่ จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561

โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าหาก DTAC ยังไม่ได้คลื่นความถี่มาเพิ่มเติม และสามารถหลุดพ้นจากธุรกิจสัมปทานได้อย่างสมบูรณ์ บริษัทจะเผชิญกับต้นทุนการดำเนินที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยหาก DTAC ต้องแข่งขันในแง่ของคุณภาพ ปัจจุบัน DTAC จำเป็นต้องอาศัยโครงข่ายสัมปทานเดิมที่มีต้นทุนสูงกว่า ในอีกทางหนึ่ง DTAC จำเป็นต้องปกป้อง Market Share ที่ทยอยลดลง ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา ดังนั้นการได้คลื่นความถี่ 2300 MHz ในครั้งนี้จึงเหมือนกับเป็นการต่อลมหายใจให้กับ DTAC

ขณะที่ วานนี้ (24 พ.ค.) DTAC ระบุว่า ได้รับหนังสือจากบริษัททีโอที  โดยแจ้งว่าคณะกรรมการของทีโอที ได้มีมติเห็นชอบให้ทีโอทีดำเนินการให้มีการทำสัญญากับกลุ่มบริษัทในการเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ซึ่งกลุ่มบริษัทจะเข้าดำเนินการเจรจาสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีโอที และคาดว่าจะเจรจาได้ข้อยุติและเข้าทำสัญญาได้ภายในไตรมาส 4/60

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มบริษัท ได้เสนอว่า บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและรับจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายให้กับทีโอที ขณะที่บริษัท ดีเทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะรับซื้อความจุโครงข่าย 60% ของความจุโครงข่ายทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งของข้อเสนอของกลุ่มบริษัทระบุว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับทีโอที เป็นจำนวนปีละ 4.51 พันล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขบางประการ

ทั้งนี้บริษัทจะเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารคลื่น 2300 MHz ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ส่วนแหล่งข่าวทีโอที เปิดเผยว่า บริษัทได้คัดเลือกพันธมิตรคลื่น 2300 MHz เพียงรายเดียว ส่วนจำนวนคลื่นอีก 40% ที่เหลือนั้น ทีโอที จะเป็นผู้บริหารเอง

ด้านราคาหุ้นวานนี้ (24 พ.ค.) ปรับตัวขึ้นตอบรับกับประเด็นดังกล่าว โดยปิดที่ 43.00 บาท ปรับตัวขึ้น 1.00 บาท หรือ 2.38% ด้วยมูลค่า 2.14 พันล้านบาท โดยนักวิเคราะห์ให้ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 65 บาท อยู่ 51.16%

โดยนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” DTAC ราคาเป้าหมาย 65 บาท/หุ้น โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ ของทีโอที จะปลุกความหวังของ DTAC ให้กลับมาใหม่อีกครั้ง โดย DTAC มีแนวโน้มได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธมิตรสำหรับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ตซ์ของทีโอที

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า การประมูลคลื่นความถี่ใหม่ของกสทช.ในปี 2561 ซึ่งได้แก่ คลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ตซ คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ และคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ตซ จะนำไปสู่การลดความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจระยะยาวของ DTAC และการปลดล็อกการประเมินมูลค่าหุ้นของ DTAC

 

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “เก็งกำไร” DTAC ให้แนวต้านระยะสั้นที่ 46.75/50.0 บาท/หุ้น โดยเห็นชอบให้ DTAC เป็นคู่ค้าให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz คาดเซ็นสัญญาณภายในสิ้นปีนี้ โดยคิดค่าใช้คลื่น 4.5 พันล้านบาท/ปี เป็นเวลา 8 ปี

ดังนั้น จึงลดความเสี่ยงเรื่องคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ที่จะหมดอายุในปี 2561 และมองเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นระยะสั้น จาก DTAC ซื้อขายที่ EV/EBITDA 4.7 เท่า ต่ำกว่า ADVANC ที่ 10 เท่า และ TRUE ที่ 13 เท่า เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องคลื่นที่จะหมดอายุ

ขณะเดียวกันแม้การได้ใช้คลื่น 2300 MHz ของ TOT ไม่ได้เป็น Upside risk ต่อประมาณการกำไรระยะสั้น แต่จะลดความกังวลต่อความเพียงพอของคลื่นความถี่ในอนาคต และค่าใช้คลื่น 4.5 พันล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่าไม่สูง

Back to top button