ทางเลือกของผู้แพ้

การตัดสินใจกลับมติจ่ายเงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสิทธิในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ของคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งที่มติดังกล่าวได้ผ่านที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องธรร


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การตัดสินใจกลับมติจ่ายเงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสิทธิในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ของคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งที่มติดังกล่าวได้ผ่านที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทการบินไทย มีขึ้นท่ามกลางการประชุมนัดพิเศษ ก่อนถึงวันสุดท้ายของการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของสายการบินนกแอร์ ที่ประสบกับภาวะฝืดเคืองทางการเงินอย่างสาหัส จนถึงขั้น ขาดสภาพคล่อง และส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ (ถือว่าเข้าข่ายล้มละลาย)

นกแอร์ จำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่ ด้วยการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 100% จากจำนวนหุ้นเดิม 625 ล้านหุ้น ในราคาต่ำกว่าราคาบนกระดานมาก เพียงแค่ 2.40 บาท พร้อมกับแถมฟรีวอร์แรนต์ อีก 4 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 หน่วย ในราคาแปลงสิทธิ 5.00 บาท ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า

คำอธิบายของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวานนี้ ระบุอย่างเป็นทางการว่า กรณีที่การบินไทยไม่เพิ่มทุนในนกแอร์ เพราะคณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงสถานการณ์ของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ขาดสภาพคล่องและจำเป็นจะต้องได้รับเงินทุนเพิ่มสำหรับการดำเนินงาน จึงได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 เห็นชอบให้ผู้แทนของบริษัทฯ ไปร่วมลงมติเห็นชอบการเพิ่มทุนของสายการบินนกแอร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามแต่จะเห็นสมควร แต่ในการประชุมครั้งดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ ยังมิได้มีมติว่าจะให้บริษัทฯ จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในการนี้หรือไม่ เพราะยังต้องรอศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนเพิ่มในสายการบินนกแอร์เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อน

คำแก้ต่างต่อมาระบุเพิ่มเติมว่า ต่อมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2560 ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาเรื่องการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสายการบินนกแอร์ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาจากรายงานของคณะทำงานเฉพาะกิจ (Special Task Force) ที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนของบริษัทฯ ในสายการบินนกแอร์เพิ่มขึ้น ภายใต้สภาวการณ์ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน ประกอบกับข้อมูลและความเห็นอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว คณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาความพร้อมของบริษัทฯ และสายการบินนกแอร์ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังไม่สมควรลงทุนเพิ่มในสายการบินนกแอร์ เพราะบริษัทฯ ควรจะมุ่งเน้นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปของบริษัทฯ ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการอยู่อีกมากก่อน คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้บริษัทฯ ไม่ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทฯ ในสายการบินนกแอร์ลดลงก็ตาม

คำชี้แจงในท้ายที่สุด ระบุว่า แม้ว่า การบินไทย จะไม่ได้ทำการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ แต่บริษัทฯ จะยังคงให้ความร่วมมือในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อสนับสนุนให้สายการบินนกแอร์สามารถพลิกฟื้นและเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน และคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้มอบหมายให้ผู้แทนของบริษัทฯ ที่เป็นคณะกรรมการของสายการบินนกแอร์ เร่งกำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือสายการบินนกแอร์ ให้สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด

คำชี้แจงดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า เต็มไปด้วยถ้อยคำเลิสหรูเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจเท่านั้น ทั้งที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่

ในขณะเดียวกัน ทางด้านตัวแทนของนกแอร์ ก็แถลงข่าวเพียงสั้นๆ ผ่านเอกสารว่า แม้การบินไทยจะไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ แต่ก็ไม่กังวลเพราะยังมีผู้ถือหุ้นเดิมที่ต้องการซื้อเกินสิทธิของตนเองเพียงพอที่จะขายหุ้นเพิ่มทุนได้หมด

เหตุผลของทั้งสองฝ่าย เข้าใจได้ชัดเจนว่า การที่ทั้งสองบริษัทจำต้องตัดสินใจดังกล่าว เพราะล้วนอยู่ในสภาพฝืดเคืองด้วยกันทั้งสิ้น

สายการบินทั้งสองราย ต่างมีปมปัญหาที่ปิดไม่มิดมายาวนานหลายปีแล้ว นั่นคือ มีผลการดำเนินงานปกติขาดทุนต่อเนื่อง เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันต่ำลง สาระสำคัญนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหาชนิด “ลูบหน้าปะจมูก” มาแล้วต่อเนื่องก็ไม่เกิดผลดียั่งยืน

ตัวเลขผลขาดทุนเรื้อรังทั้งสองบริษัทต่างพากันลุกลามถึงตัวเลขสภาพคล่องของบริษัทที่มีค่าต่ำต่อเนื่องทำนองเดียวกัน แล้วก็ยังตัวเลขภาระหนี้ ที่หากเป็นบริษัทปกติทั่วไป ถือว่าเข้าขั้นอันตรายทีเดียว

ตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อทุนของการบินไทยเพราะมีค่าถึงระดับ 7-8 เท่าเลยทีเดียว หากไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ให้แล้ว ป่านนี้ มีโอกาสโคม่า ชนิดที่เจ้าหนี้รุมทึ้งจ้าละหวั่นเป็น NPLs ไปนานแล้ว เพราะอาจจะถูกเรตติ้งระดับ “ขยะ” ได้ง่ายมาก

ฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่นี้ ถูกเพิ่มเติมด้วยปัญหาที่ผู้บริหารทั้งสองบริษัทไม่เคยแก้ตก หรือยอมรับอย่างเปิดเผย นั่นคือ อุปสงค์ของคนเดินทางโดยเครื่องบิน โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก ขณะที่ต้นทุนดำเนินการยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมไปถึงการมีรายจ่ายพิเศษอื่นๆ

ภายใต้ความอ่อนแอทางการเงินที่เกิดขึ้น ถูกรุมเร้าด้วยความรุนแรงของการแข่งขัน ที่มาจากทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ (การแข่งขัน) และปัจจัยที่ควบคุมได้ (การบริหารจัดการ)

ในเรื่องปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ การแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะการรุกทั่วโลกของ 3 สายการบินยักษ์ใหญ่จากตะวันออกกลาง กาตาร์แอร์เวย์ส เอมิเรตส์ และเอธิฮัด รวมถึงความเฟื่องฟูของสายการบินโลว์คอสต์ในตลาดเอเชีย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสายการบินพาณิชย์รายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นทั้งภูมิภาค แม้กระทั่งสายการบินที่หลายคนเชื่อว่ามีความสามารถในการจัดการบริหารธุรกิจการบินที่เหนือกว่าการบินไทย อย่าง สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ดีกว่ากันมากนัก ล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนอย่างหนัก จนหุ้นร่วงชนิดดิ่งนรกมาแล้ว

โจทย์ที่ทำให้สายการบินแห่งชาติทั่วโลกมีสภาพธุรกิจเป็นขาลงยาวนาน จึงเป็นมากกว่าแค่ความสามารถในการทำกำไร หรือความสามารถในการบริหารจัดการ แต่เป็นความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ที่ธุรกิจการบินพาณิชย์เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งระบบ ต้องแก้ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่เป็นหลัก

กรณีของการบินไทย และนกแอร์ จึงไม่ใช่การหา “แพะรับบาป” อย่างเดียว แต่จะต้องทำความเข้าใจต่อสถานการณ์อันยากลำบากของธุรกิจด้วย

การตัดสินใจ “ลดทอนระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ” ระหว่างการบินไทย และนกแอร์ อาจจะเป็นสิ่งที่ดี หรือแย่กว่าเดิมก็ได้ แต่ในระยะเฉพาะหน้านี้ ถือว่ายุทธการ “แยกทางกันเดิน ตัวใครตัวมัน” เป็นความสมเหตุสมผลที่ต้องยอมรับ และเข้าใจอย่างแท้จริง ด้วยระดับวุฒิภาวะที่เหมาะสม ไม่ตื่นตระหนก หรือปัดสวะ

Back to top button