DTAC สยิวชั่วคราว ไม่ค้างคืน

ผลลัพธ์ออกมาแล้ว ในที่สุดก็เรียบร้อยโรงเรียน DTAC ตามคาดหมาย ไม่มีพลิกโผ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ผลลัพธ์ออกมาแล้ว ในที่สุดก็เรียบร้อยโรงเรียน DTAC ตามคาดหมาย ไม่มีพลิกโผ

คณะกรรมการบริษัท ทีโทที จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ได้คัดเลือกพันธมิตรคลื่น 2300 MHz เพียงรายเดียว ที่เสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับ TOT….เพื่อให้เป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) เป็นเวลา 8 ปี โดยมีจำนวนคลื่นภายใต้สัญญาคู่ค้าคิดเป็น 60% ของคลื่นที่ทีโอทีมีอยู่ ส่วนที่เหลืออีก 40% ทีโอที จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารเอง

ตามสัญญาดังกล่าว มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่น่าสนใจดังนี้

  • รูปแบบการให้บริการ จะเป็นด้าน ทีโอที นำความจุไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) ร้อยละ 20 ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกลเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิดธ์ทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ ของคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) ร้อยละ 20 เป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมืองผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และบริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวนร้อยละ 60
  • คู่ค้าที่เป็นพันธมิตร (บริษัทย่อยในเครือของ DTAC เป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G/LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตช์ เต็มทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งและเปิดให้บริการภายในปีแรกไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้นจะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ภายใน 1 ปีหลังจากเลือกบริษัทคู่ค้าจะต้องติดตั้งอุปกรณ์และเริ่มให้บริการภายใน 1 ปี
  • ข้อเสนอของกลุ่ม DTAC ระบุว่า บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและรับจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายให้กับทีโอที ขณะที่บริษัท ดีเทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะรับซื้อความจุโครงข่าย 60% ของความจุโครงข่ายทั้งหมดจำนวน 60 MHz โดยส่วนหนึ่งของข้อเสนอคือ เสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับทีโอที เป็นจำนวนปีละ 4,510 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขบางประการ
  • กลุ่มบริษัท DTAC จะเข้าดำเนินการเจรจาสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีโอที และคาดว่าจะเจรจาได้ข้อยุติและเข้าทำสัญญาได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2560

การได้รับการคัดเลือกจากทีโอที ให้เป็นพันธมิตรคู่ค้าของ ทีโอที คราวนี้ มีความสำคัญยิ่ง เพราะปลดล็อกแรงกดดันได้บางส่วน…อย่างน้อย DTAC ก็มีท่อออกซิเจนต่อลมหายใจ อย่างน้อยก็ในช่วงไม่เกิน 8 ปี

ท่ามกลางคำถามว่า ต้นทุนลมหายใจถึงปีละ 4,510 ล้านบาท คุ้มค่าในการลงทุน…. หรือไม่

คำตอบคือในทางการเงินอาจจะไม่คุ้ม แต่ในทางยุทธศาสตร์ธุรกิจ สำคัญยิ่งเพราะเสมือนสร้างป้อมปราการด่านสุดท้ายได้สำเร็จ เนื่องจากหากไม่ได้ จะเสียหายยับเยิน ..ถึงขั้นต้องออกจากเวทีการแข่งขันทางธุรกิจไปเลย

มีนักวิเคราะห์ระบุว่าหากไม่ได้เป็นคู่ค้า ความเสียหายที่จะเกิดกับ DTAC จะมาจาก 2 ทาง คือ  1) สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากที่มีคลื่นน้อยกว่าคู่แข่ง หลังสัมปทานสิ้นสุดในไตรมาส 3 ในปี 2561 ซึ่ง DTAC จะเหลือเพียงคลื่น  2100 แค่ 15 MHz แต่คู่แข่งมีคลื่นอยู่รายละ 55 MHz  2) แรงกดดันที่จะต้องชนะในการประมูลรอบหน้าของ กสทช.ปี 2561 จะมีต้นทุนมหาศาล

ข้อเท็จจริงนี้ ทำให้เมื่อเดือนเมษายน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า การเป็นคู่ค้าของทีโอที เป็นยิ่งกว่า “ความจำเป็น” เพราะต้องมีคลื่นความถี่ใหม่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนคลื่นความถี่ปัจจุบันจำนวน 35 MHz ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2561 ตามสัญญาสัมปทาน ในขณะที่คลื่นความถี่ 2100 จำนวน 15 MHz ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต ไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมา DTAC เพิ่งถูก TRUE แซงหน้าคว้าส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสองของตลาดไปเรียบร้อยแล้ว การได้เป็นพันธมิตรนี้ จึงเป็นการ “ซื้อเวลาช่วงขาลง” ชั่วคราว

แต่…ความเสี่ยงยังไม่หายไป เพราะยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา ท่ามกลางมรสุมรุมเร้าจากกำไรที่ลดฮวบมาจากการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทาน และลูกค้าที่ถูกคู่แข่งแย่งไปต่อเนื่อง

แรกสุด เครื่องโทรศัพท์ลูกข่ายที่ใช้กับคลื่นความถี่ 2300 MHz ยังมีจำนวนน้อยในตลาดเมืองไทย ดังนั้นในการทำการตลาด DTAC ต้องเสนอส่วนลดค่าเครื่องที่สูงเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการย้ายไปใช้คลื่นความถี่ใหม่…นอกเหนือจากต้องลงทุนเพิ่มในเครือข่าย …อาจทำให้กำไรลดลง

ความเสี่ยงต่อไปคือ คลื่นความถี่ที่ยังมีน้อยเกิน ทำให้ DTAC ยังต้องมีภาระจ่ายเงินเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 850 MHz ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 รองรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G อยู่

งานนี้ จะบอกว่า ได้เฮแค่ชั่วคราว แต่ระยะยาว หรือค้างทั้งคืน..ยังไม่แน่ เพราะอาจจะทำไม่ได้

“อิ อิ อิ”

Back to top button