ตลาดทุนไทย กับ น้ำผึ้งหยดเดียว

ความวุ่นวายภายในของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC มีท่าทีบานปลายไปเรื่อยๆ และนับวันจะสร้างความเสียหายมากขึ้น เป็นรอบด่างพร้อยให้กับตลาดทุนไทยอย่างกว้างและลึก


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ความวุ่นวายภายในของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC มีท่าทีบานปลายไปเรื่อยๆ และนับวันจะสร้างความเสียหายมากขึ้น เป็นรอบด่างพร้อยให้กับตลาดทุนไทยอย่างกว้างและลึก

อาจจะกลายสภาพเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ง่ายมาก หากยังปล่อยปละละเลยกันต่อไปไม่สิ้นสุด

เมื่อวานนี้ เกิดความเคลื่อนไหวที่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยบางส่วนของ IFEC  นำโดย นางนพวรรณ ขลันบุรีธรรม ออกมาให้ข่าวว่า เตรียมเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เร่งตรวจสอบการทำงานของนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ และจัดการกับปัญหาของ IFEC

กลุ่มคนดังกล่าวระบุว่า จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรับหลายแห่ง นับแต่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาช่วยเหลือ และเร่งรัดหน่วยงานกำกับดูแลให้เข้ามาแก้ไขปัญหา

ก่อนหน้านี้ คนกลุ่มนี้ได้ไปขอพึ่งสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เข้ามาตรวจสอบงบการเงินของ IFEC มาแล้ว

สาระของคนกลุ่มนี้ ระบุว่า ปัญหาของ IFEC ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ ส่อแววที่จะสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถปิดงบการเงินในปี 2559 ให้ทันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนด จนทำให้มีการขึ้นเครื่องหมายห้ามการซื้อขาย (SP) ถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกันในฝั่งของเจ้าหนี้ซึ่งมีทั้งหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ประมาณ 3,000 ล้านบาท หุ้นกู้ ประมาณ 3,000 ล้านบาท และเงินกู้ลงทุนโรงไฟฟ้า ประมาณ 1,800 ล้านบาท ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยที่ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา IFEC จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้เพียง 10% เท่านั้น

ผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับกลุ่มเจ้าหนี้ ได้จัดประชุมร่วมกันประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ผ่านมา ได้มีความพยายามเคลื่อนไหว และเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาตรวจสอบปัญหาดังกล่าว เพราะผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ที่มีกว่า 28,000 ราย ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หลังจากถูกขึ้นเครื่องหมาย SP มาเป็นเวลากว่า 5 เดือน

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังพบว่าพิรุธเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายวิชัย ในฐานะประธาน มีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับบริษัทได้ เช่น

  • การนำหุ้นบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ แคปแมเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นของโรงแรมดาราเทวี ในสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หากประเมินราคาจะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ไปจำนองกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด เพื่อแลกกับการค้ำประกันหนี้ตั๋วบี/อี มูลค่า 100 ล้านบาท ที่ครบกำหนด แล้วปล่อยให้มีการผิดนัดชำระหนี้
  • การนำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของบริษัททรู เอ็นเนอร์ยี่ เพาวเวอร์ ลพบุรี จำกัด ไปเป็นหลักประกันต่อ บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เพื่อได้มาซึ่งเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 50 ล้านบาท

การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นมิติใหม่ของการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย หาทางดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง (ไม่ว่าจะมีคนมองอย่างเคลือบแคลงว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่) ถือเป็นมิติใหม่ เพราะสภาพที่เกิดขึ้นกับ IFEC ใน 6 เดือนที่ผ่านมานับแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มแกนหลักมีเหตุขัดแย้งภายในระหว่างกันเองด้วยสาเหตุไม่เปิดเผย ปรากฏว่า สถานการณ์ของ “สงครามน้ำลาย” และ “สงครามชิงอำนาจในบอร์ดบริษัท” ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีใครรู้ว่าจะถึงข้อยุติที่เป็นทางออกอย่างไร

เหตุของ IFEC นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เริ่มจากการกู้เงินจากหลายแหล่งของแกนนำกลุ่มรายใหญ่ เข้ามาซื้อกิจการทาง “ประตูหลัง” โดยอ้างสตอรี่จอมปลอมเรื่องพลังงานทางเลือกอันสวยหรูเป็นเหตุผลในการดันราคาหุ้นให้สูงเกินจริง ก่อนที่จะปรากฏว่าสตอรี่ดังกล่าวเป็นสิ่งจอมปลอม แล้วผู้ถือหุ้นใหญ่แกนหลักก็แย้งกันทิ้งหุ้นจนร่วงอย่างหนัก กลุ่มที่หนึ่งในแกนนำของกลุ่มจะลาออกจากกิจการกะทันหัน หลังจากที่แอบเอาหุ้นในมือรวบไปขายให้กลุ่มทุนใหม่เข้ามาซื้อกิจการไปทำต่อ

การต่อสู้ของกลุ่มทุนเดิมที่มีหุ้นในมือจำนวนน้อย และกลุ่มทุนใหม่ที่มีหุ้นมากกว่า แต่ยังมีเสียงสนับสนุนไม่เด็ดขาด ดำเนินมาต่อเนื่องหลายเดือนนี้ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง 2 หน่วยงานคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียนผู้กำกับกฎหมายบริษัทมหาชน กับ ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับกฎกติกาของตลาดทุน ไม่สามารถหาข้อยุติด้วยกันอย่างเป็นเอกฉันท์ได้

ข้อมูลที่สาธารณะรับทราบโดยทั่วไปคือ  ก.ล.ต. อ้างว่า ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายบริษัทหาชนนั้น ไม่ใช่อำนาจและหน้าที่ของหน่วยงาน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้

ในขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็เต็มไปด้วยความเงียบ ไม่มีการดำเนินการเชิงรุกเกิดขึ้นเลย ทั้งที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการที่มีความขัดแย้งไม่ลงตัวหรือมีข้อยุติ

ที่สำคัญ ไม่เคยมีปรากฏว่า ทั้งสองหน่วยงานที่ทำงานคนละส่วนนั้น เคยทำการริเริ่มหรือหารือกันโดยเปิดเผยหรือทางลับเพื่อที่จะร่วมมือกันทำให้ปัญหาของ IFEC มีข้อยุติ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยดังกล่าว ถือว่าเป็นการดึงเอาหน่วยงานรัฐอื่น รวมทั้งผู้ที่มีบทบาททางด้านการเมืองเข้ามาโยงใยกับการแก้ไขปัญหาของตลาดทุน อันเป็นการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกับเจตนาและปรัชญาของตลดาทุนโดยพื้นฐานอย่างยิ่ง

ผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตก้าวหน้าจนผงาดเป็นอันดับหัวแถวของอาเซียนและเอเชียยามนี้ คงได้แต่เศร้าใจที่ได้เห็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยมีกรณีของ IFEC เป็นต้นเรื่อง แต่จะทำอย่างไรได เพราะทั้งหมดนี้ เป็นปัญหาของ “ความเปราะบางจากภายใน” เป็นสำคัญ

นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC กล่าวว่า บริษัทได้แจ้งการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครั้งที่ 2 (IFEC-W2) ที่ออกไว้จำนวน 456,086,420 หน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น สำหรับการใช้สิทธิครั้งที่ 2 มีกำหนดการใช้สิทธิวันที่ 31 พ.ค. 60 โดยแจ้งความจำนงในการใช้สิทธิ วันที่ 24-30 พ.ค. 60 อัตราการใช้สิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญ ราคาการใช้สิทธิ 25 บาทต่อหุ้น

Back to top button