น้ำมันขาลง (ใหม่) ?

นานจนเกือบลืมแล้วว่า นักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อตลาดน้ำมันแค่ไหน จนกระทั่งคืนวันอังคารที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงแรง เนื่องจากนักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ว่าควรอยู่ระหว่าง 45.00-50.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

นานจนเกือบลืมแล้วว่า นักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อตลาดน้ำมันแค่ไหน จนกระทั่งคืนวันอังคารที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงแรง เนื่องจากนักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ว่าควรอยู่ระหว่าง 45.00-50.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การร่วงของราคาหุ้นพลังงาน ทำให้ดัชนีของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ไม่ว่าจะเป็นดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ดัชนี S&P 500 และดัชนีแนสแด็ก มีอาการร่วงจากจุดสูงสุดลงมา

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือ เชลล์ ออยล์ ในสหรัฐฯ มีต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้แรงจูงใจผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ดังนั้น การลดแรงจูงใจให้สหรัฐฯ ลดผลิตน้ำมัน ต้องทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในกรอบดังกล่าวหรือต่ำกว่า ถ้าไม่ทำ ภาวะน้ำมันล้นตลาดที่ชาติส่งออกน้ำมันพยายามต่อสู้ด้วยการควบคุมผลผลิตที่ยืดเวลาออกไปจนถึงมีนาคม 2561 จะไม่เกิดผล และส่งผลให้ตลาดกลับมาไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

บทวิเคราะห์ดังกล่าว ออกมาในจังหวะที่นักลงทุนในตลาดน้ำมันดิบล่วงหน้าทั่วโลก พากันกังวลเกี่ยวกับผลผลิตน้ำมันท่วมตลาดโลกที่กลับมาครั้งใหม่ หลังจากที่โอเปกไม่ยอมลดกำลังการผลิตลงเพิ่มเติมในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้มีคนไม่น้อยนึกขึ้นได้ว่า บทวิเคราะห์ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการคาดเดาอย่างแม่นยำตั้งแต่ต้นปีก่อน โดยโกลด์แมน แซคส์มาแล้ว

ในกลางปี 2558 นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ เคยบอกเมื่อตอนที่ราคาน้ำมันเริ่มร่วงลงมาแถวระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจจะร่วงลงไปต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งอีก 7 เดือนต่อมาในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ราคาน้ำมันก็ลงไปเกือบถึงราคาดังกล่าว

ในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มรีบาวด์จากจุดต่ำสุดในรอบหลายปี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์อีกเช่นกัน (แม้จะไม่ชัดว่า เป็นคนเดียวกันหรือไม่) ก็มีเอกสารเผยแพร่ออกมาปรับเปลี่ยนมุมมองของตลาด โดยเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในครึ่งแรกของปี 2559 ให้มีค่าเฉลี่ยที่ระดับ 45 ดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 2 และอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาในปี 2560 ลง

มุมมองของของนักวิเคราะห์ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการขยับของชาติส่งออกอย่าง รัสเซีย เวเนซุเอลา และซาอุดีอาระเบีย เพื่อหาทางลดกำลังการผลิตก่อนที่เศรษฐกิจชาติส่งออกจะพังทลาย แล้วเกิดเป็นผลของข้อตกลงในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถทำให้อุปทานต่ำกว่าอุปสงค์ได้เต็มที่ เพราะผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นดินดานในสหรัฐฯ อยู่นอกข้อตกลงดังกล่าว

ครั้งนั้น โกลด์แมน แซคส์ เตือนว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเกินกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด ก็จะเป็นแรงจูงใจให้โลกกลับมาเผชิญกับภาวะน้ำมันล้นตลาดอีกครั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ได้

จะบังเอิญหรือสถานการณ์เป็นใจให้การวิเคราะห์ดังกล่าวแม่นยำอย่างมาก เพราะนับแต่เดือนพฤษภาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบได้แกว่งตัวในกรอบ 45-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยตลอด แล้วผลข้างเคียงสำคัญคือ ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น (ยกเว้นเหล็ก) ทั่วโลกปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

ครั้งล่าสุดวานซืนนี้ โกลด์แมน แซคส์ ก็เตือนอีกว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตในสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในต้นปีหน้า เป็นจังหวะไล่เลี่ยกันกับข้อตกลงควบคุมผลผลิตน้ำมันดิบของชาติส่งออกน้ำมันทั้งหลายหมดอายุลงพอดี จะทำให้อุปทานน้ำมันท่วมโลกรุนแรงอีกครั้ง

ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ไม่ได้มีแค่โกลด์แมน แซคส์รายเดียว แต่วาณิชธนกิจใหญ่อีกรายอย่าง JP Morgan ก็ทำการปรับลดมุมมองต่อราคาน้ำมันดิบ Brent ในปีหน้าลง จากระดับปัจจุบันอีก 10 ดอลลาร์ จากที่เคยมีการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และก็ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ลงอีก 11 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การปรับลดมุมมอง บ่งชี้ว่า อุปทานเทียมที่ชาติส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่มีรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเป็นแกน พยายามสร้างมาหลายเดือน อาจจะเป็นภาพหลอนที่ไม่ได้สนับสนุนราคาให้มีเสถียรภาพแต่อย่างใด หากเพื่อยื้อเวลาให้หายนะมาช้าลงเท่านั้น

Back to top button