ทางออกกรณีบ่อน้ำมันบนที่ สปก.

ถือเป็นความเสียหายมากมายเลยนะครับที่สัมปทานขุดเจาะน้ำมันโครงการ S1 ในพื้นที่ตั้งจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร ถูกคำสั่งระงับลง ไม่สามารถจะขุดเจาะน้ำมันต่อไปได้


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ถือเป็นความเสียหายมากมายเลยนะครับที่สัมปทานขุดเจาะน้ำมันโครงการ S1 ในพื้นที่ตั้งจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร ถูกคำสั่งระงับลง ไม่สามารถจะขุดเจาะน้ำมันต่อไปได้

โดยเป็นผลมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้เพิกถอนระเบียบ คปก. หรือคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น

พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่อนุญาตให้ขุดเจาะน้ำมันบนพื้นที่ สปก. นั่นเอง

ความเสียหายเบื้องต้นเท่าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินไว้ก็คือ น้ำมันดิบจะหายไปวันละ 16,000 บาร์เรล ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรล/วัน

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายด้านรายได้ทางฝั่งผู้ประกอบการคือปตท.สผ. 47 ล้านบาท/วัน

ภาครัฐก็สูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 26 ล้านบาท/วัน องค์กรปกครองท้องถิ่นก็ขาดรายได้จากค่าภาคหลวงวันละ 3.55 ล้านบาทไปด้วย

รวมแล้วความเสียหายในส่วนภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นวันละ 29.55 ล้านบาท

รวม 2 ยอดรายการทั้งภาครัฐและผู้รับสัมปทานก็ปาเข้าไปวันละ 76.5 ล้านบาท ถ้าคิดปีหนึ่งเงินก็หายไปเกือบ 2.8 พันล้านบาทเลยทีเดียว

ถ้าคิดแบบสามัญชนที่ไม่ซับซ้อนอะไรมาก หากใช้พื้นที่สัมปทานขุดเจาะน้ำมันทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกได้เฉพาะพืชไร่ ก็คงจะไม่สร้างรายได้อะไรมากมายนักเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการขุดเจาะปิโตรเลียม

แต่นี่บ้านเมืองมีการปกครองกันโดยระบบกฎหมาย และมี พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบังคับว่า พื้นที่ สปก. จะต้องใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น

หากจะยกเว้นเอาที่ สปก. ไปใช้ใน “กิจการอื่น” ก็ต้องเป็น “กิจการอื่นที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม” ดังข้อยกเว้นกรณีกังหันลมบนที่ดิน สปก. ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ พิสูจน์ทราบให้เห็นแล้วว่ากังหันลมก็เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร

ผมไม่ทราบว่าทางฝ่ายผู้ถูกร้อง ซึ่งก็น่าจะเป็น คปก.ยกประเด็นข้อต่อสู้ได้หนักแน่นแค่ไหนนะ แต่ผลชี้ขาดก็ออกมาถึงที่สุดแล้วล่ะจากศาลปกครองสูงสุด

รัฐมนตรีพลังงาน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ถึงคราวต้องเต้นหาทางออกและเมื่อคิดอะไรไม่ออกก็ต้องนึกถึง “ม.44 แก้วสารพัดนึก” กันอีกแล้ว

ผมก็ว่ากรณีนี้มันเป็นดาบ 2 คมอยู่นะ ที่ผ่านมามักจะใช้ ม.44 กับระเบียบและกฎหมายทางการบริหาร ซึ่งก็ดูปกติธรรมดาสำหรับ “อำนาจพิเศษ” แต่นี่เป็นคำสั่งศาล!

การจะเอา ม.44 ไปล้มล้างคำสั่งศาลมันก็ดูประเจิดประเจ้อน่าเกลียดอย่างไรไม่รู้นะ

ลองคิดอะไรให้กว้างไกลสักหน่อยจะดีไหม ที่เป็นการหลีกเลี่ยงการล้มล้างคำสั่งหรือคำพิพากษา

ตามสติปัญญาที่ผมพอนึกออกก็คือ การกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. นั้น ใช้อำนาจตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีจะประกาศเป็นพื้นที่ สปก. หรือจะประกาศล้มเลิกเสียก็ยังได้

ฉะนั้นเมื่อตัวปัญหาคือพื้นที่โครงการ S1 ไม่สามารถขุดเจาะน้ำมันได้ เพราะยังมีสถานะเป็นพื้นที่ สปก. คณะรัฐมนตรีก็อาจประกาศยกเลิกเป็นพื้นที่ สปก. เสียเพื่อความเหมาะสม โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาใหม่ขึ้นมา

ไม่จำเป็นจะต้องนำเรื่องเข้าพิจารณาใน สนช .เสียด้วย เพราะเป็นการแก้กฎหมายในชั้นกฤษฎีกา และก็สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบในการล้มล้างคำสั่งศาลได้อย่างแน่นอน

ปัญหาสัมปทานขุดเจาะน้ำมันบนที่ดิน สปก. ยังมีทางออกและต้องรีบเร่งแก้ไขแน่นอน และควรจะโดยวิถีทางที่เป็นอารยะเสียด้วย

 

Back to top button