พาราสาวะถี

ปมมาตรา 44 เพื่อเร่งดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน เดิมทีเข้าใจว่าน่าจะมีเสียงวิจารณ์ที่เบาบางหรือหากมีใครออกมาสะกิดก็น่าจะเป็นการแตะเบรกแบบเบาๆ แต่อย่างน้อยวันนี้มี 2-3 คน ที่ช่วยเตือนสติท่านผู้นำว่าการเร่งรัดโครงการดังว่าด้วยกฎหมายพิเศษไม่น่าจะเป็นหนทางที่สวยงาม ที่น่าดีใจคืออย่างน้อยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นก็ยังอยากเห็นความโปร่งใสที่ไม่ใช่แค่การเร่งรีบเพียงอย่างเดียว


อรชุน

ปมมาตรา 44 เพื่อเร่งดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน เดิมทีเข้าใจว่าน่าจะมีเสียงวิจารณ์ที่เบาบางหรือหากมีใครออกมาสะกิดก็น่าจะเป็นการแตะเบรกแบบเบาๆ แต่อย่างน้อยวันนี้มี 2-3 คน ที่ช่วยเตือนสติท่านผู้นำว่าการเร่งรัดโครงการดังว่าด้วยกฎหมายพิเศษไม่น่าจะเป็นหนทางที่สวยงาม ที่น่าดีใจคืออย่างน้อยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นก็ยังอยากเห็นความโปร่งใสที่ไม่ใช่แค่การเร่งรีบเพียงอย่างเดียว

โดย มานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ระบุถึงประเด็นที่รัฐบาลใช้ม.44 ไฟเขียวให้จีนสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายไทยบางข้อว่า น่าสนใจมากว่า ทำไมรัฐบาลจึงใช้มาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้พ.ร.บ. ฮั้วประมูล เพราะการทำผิดตามกฎหมายนี้ ต้องมีพฤติกรรมและเจตนาที่ทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นการคอร์รัปชั่น

ที่ต้องขีดเส้นใต้จากความเห็นของมานะคือ การดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อแสดงความโปร่งใสต่อโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยการอธิบายให้ครบถ้วนกระบวนความของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ที่มานะบอกว่า มีสิ่งสำคัญที่ชัชชาติทำ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำ

อันได้แก่ ยอมรับกลไกการตรวจสอบตามกฎหมายทุกประการเพื่อความโปร่งใส ให้จัดซื้อโดยการประมูลแบบ International Bidding เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี เปิดรับเทคโนโลยีและข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ และประกาศแผนแม่บทของโครงการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศให้ประชาชนทราบ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ต้องมีการศึกษาและบริหารโครงการด้วยความรอบคอบโปร่งใสเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว

การใช้มาตรายาวิเศษเพื่อจัดการเรื่องใหญ่ที่สมควรจะต้องละเอียดรอบคอบนี่เอง เสียงทักท้วงจากนักวิชาการอีกหนึ่งรายจึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจควรตระหนัก เสียงดังว่าคือคำเตือนจาก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊คส่วนตัว ตั้งค่าเข้าถึงเป็นสาธารณะ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจักรวรรดิโรมัน และพัฒนาการการเรียนรู้การปกครองของชาวตะวันตก

เรื่องหลักการปกครอง การแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้อำนาจรวมอยู่กับคนผู้เดียว ซึ่งเป็นการควบคุมอำนาจที่ดีที่สุด ก่อนสรุปในตอนท้ายเปรียบเทียบการการใช้อำนาจมาตรา 44 ว่า ไม่เหมาะกับการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวไปเรื่อยๆ สิ่งที่ปริญญาสะท้อนคือ มาตรา 44 นั้น เป็นทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไม่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆได้เลย

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว มาตรา 44 ก็ควรเลิกใช้ และหันมาแก้ปัญหากันตามระบบปกติ ที่จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้เสียที เพราะต่อให้ผู้มีอำนาจที่รวมศูนย์แบบนี้ จะแก้ปัญหาเก่งแค่ไหน แต่ประเทศจะอยู่ด้วยมาตรา 44 ไปเรื่อยๆอย่างนี้ไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเขาแก้ปัญหากันเองด้วย

แล้วต่อให้ท่านแก้ปัญหาถูกทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องนึกถึงด้วยว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า คนที่จะมาต่อจากท่านจะเป็นใคร จะใช้อำนาจโดยชอบทุกครั้งไหม แล้วถ้าใช้ผิดขึ้นมา สังคมไทยจะควบคุมได้อย่างไร         โปรดอย่ารำคาญเสียงทักท้วงของผู้คน ที่พูดไปทั้งหมดนี้ก็เหมือนทาสโรมันที่คอยกระซิบข้างหูแม่ทัพเท่านั้นแหละว่า Memento mori หรือว่า ท่านไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า นั่นแหละ

นั่นเป็นการสะกิดเตือนกันแบบเบาๆ แต่เอาแบบหนักหน่วงทว่าตรงไปตรงมาและน่าจะสอดรับกับทั้งสองคนแรกเป็นอย่างดี ก็ต้องความเห็นของ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ที่บอกท่านผู้นำว่า บรรดาคนที่อยู่รายล้อมท่านนายกฯเกิดมาโง่แล้วไม่ฟังใคร ก็ควรจะนอนอยู่บ้าน ถ้าฉลาดก็ควรจะปรึกษาสภาสถาปนิกก่อนจะทำอะไรที่ทำให้ปั่นป่วนกันระดับโลกขนาดนี้

โดยดวงฤทธิ์ชี้ให้เห็นว่า การใช้อำนาจม. 44 เพื่อละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี สั่งไปละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายประการทันที การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของชาวต่างชาติในประเทศไทย ไม่ได้ถูกควบคุมไว้แต่เพียงพ.ร.บ.สถาปนิกในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับข้อตกลงอาเซียน ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศและอื่นๆอีกมากมาย

ในการที่รัฐบาลนี้ได้ใช้ม.44 ในการอนุญาตให้สถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตนั้น แม้ว่าจะอนุญาตให้เป็นการเฉพาะ แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้สถาปนิกจากชาติอื่นเข้าเจรจาภายใต้หลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติของ WTO ได้ทันที นั่นแปลว่าเราได้เปิดประตูให้สถาปนิกทุกชาติทั่วโลกในสนธิสัญญา WTO เข้ามาปฏิบัติวิชาชีพในไทยได้อย่างเสรีทันที โดยไม่ต้องขอในอนุญาตปฏิบัติวิชาชีพ

เท่ากับเราเปิดเสรีให้กับวิชาชีพไปแล้วแบบไม่เท่าเทียม คนไทยทำอาชีพนี้ต้องสอบกันแทบตาย แต่ต่างชาติเดินหิ้วกระเป๋าเข้ามาทำงานได้เลย ตึกพังคนไทยตาย ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆแม้แต่น้อย ถ้ารัฐบาลมีสติปัญญาอีกนิดเดียวและปรึกษากันบ้าง ให้สถาปนิกจีนที่จะเข้ามาทำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาทำงานภายใต้เงื่อนไขของภาคีสถาปนิกพิเศษ ซึ่งมีกำหนดไว้ในพ.ร.บ.สถาปนิกอยู่แล้ว ในกรณีที่เข้ามาทำงานในโครงการของรัฐ เช่น เดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่เห็นต้องใช้ม.44 สร้างความเสียหายให้กับวิชาชีพมากขนาดนี้

ความจริงยังมีข้อทักท้วงอีกหลายประการที่ดวงฤทธิ์ได้เสนอแนะ แต่ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกรายนี้หรือใครก็ตาม หากผู้มีอำนาจเขาทุบโต๊ะมาขนาดนี้คงไม่มีทางใส่เกียร์ถอย เพียงแต่ว่าสิ่งที่ฝากเตือนใจกันไว้ก็คือ การใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.สั่งการโดยการฉีกกฎหมาย ข้อตกลงต่างๆ เพราะคนที่อยู่รอบตัวโง่ ชุ่ยและขี้เกียจนั้น ท้ายที่สุดหากมีปัญหาในอนาคตทุกสิ่งที่จะย้อนกลับมาก็ต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ออกคำสั่งในวันนี้นั่นเอง แม้จะมีกฎหมายยกเว้นความผิดไว้ให้ตัวเองแล้ว แต่กฎแห่งกรรมมันยังเป็นจริงเสมอ

Back to top button