พาราสาวะถี

เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันกับนักข่าวหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคารว่า ตามกลไกต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2561 เพียงแต่ว่าท่านไม่ได้บอกว่าจะเป็นช่วงเดือนไหนของปีดังกล่าวเท่านั้นเอง แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนั้น หัวหน้าคสช.ยังระบุอีกว่า ระบบคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวต จะช่วยให้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลด้วย


พาราสาวะถี : อรชุน

เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันกับนักข่าวหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคารว่า ตามกลไกต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2561 เพียงแต่ว่าท่านไม่ได้บอกว่าจะเป็นช่วงเดือนไหนของปีดังกล่าวเท่านั้นเอง แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนั้น หัวหน้าคสช.ยังระบุอีกว่า ระบบคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวต จะช่วยให้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลด้วย

มั่นใจเสียขนาดนี้ คงไม่ต้องบอกว่าไพรมารีโหวตที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัตินั้น จะได้รับการปรับแก้หรือไม่ เพราะ”แป๊ะ”ยืนยันด้วยตัวเอง ก็ถือเป็นสัญญาณอันเด่นชัดว่า ทุกกระบวนท่าที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านน้ำมือของกรธ.แล้วไปถูกปรับแก้ในชั้นสนช.นั้น ตั้งต้นและมีบทสรุปมาจากไหน

อีกประการที่น่าสนใจต่อคำตอบของบิ๊กตู่กับคำถามเรื่องเสียงวิจารณ์ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ระบุว่า รัฐบาลทหารจะอยู่ถึง 10 ปี โดยบอกเพียงว่านักวิชาการคนดังว่าจะพูดอะไรก็พูดไป ตัวเองก็รับฟัง ท่วงทำนองไม่ตอบรับหรือปฏิเสธนี่ต่างหากที่น่าจับตา ความหมายที่บอกว่าประเทศไทยจะมีเลือกตั้งในปีหน้านั้น ไม่ได้หมายความว่า หลังการเลือกตั้งแล้วจะปลอดจากรัฐบาลทหาร

เด่นชัดเป็นอย่างจริงจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดช่องเปิดทางให้มีนายกฯคนนอก มีส.ว.ลากตั้งถึง 250 คนที่มีอำนาจร่วมเลือกผู้นำประเทศได้ด้วย ยิ่งกว่าหวยล็อกเสียอีก เมื่อประกบกับท่าทีของกองเชียร์จากม็อบชัตดาวน์ ผนวกเข้ากับอาการนิ่งเงียบของชนชั้นนำที่ปฏิเสธการเลือกตั้งและการวางเฉยของนักวิชาการกลางกระเท่เร่ เหล่านี้คือปัจจัยหนุนทำให้คนที่จะเสียสัตย์เพื่อชาติ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ใจ และมั่นใจว่า จะไร้กระแสต่อต้านเหมือนเช่นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬแน่นอน

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูปาฐกถาของเสกสรรค์ในหัวข้อการเมืองไทย กับสังคม 4.0 ยิ่งเห็นภาพของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ชนชั้นนำไทยในระบบราชการได้กลับมาสถาปนาอำนาจทางการเมืองของตนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนแนวโน้มอนาคต อาจกลายเป็นการเมืองแบบเกี้ยเซี๊ย หรือกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองกับชนชั้นนำที่แหลมคมขึ้น

พื้นฐานของสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาจนถึงการรัฐประหารปี 2557 และการร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นเรื่องของความพยายามกลับมาสถาปนาอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐอีกครั้ง หลังจากถูกสั่นคลอนไปในระหว่างที่ประเทศได้ผ่านระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ที่ทำให้ชนชั้นนำใหม่จากภาคเอกชนและการเมืองมวลชนเริ่มมีพลังต่อรองมากขึ้น

การเข้ายึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐในครั้งนี้ ยังได้พยายามที่จะฟื้นบทบาทของตนกับทุนนิยมโลกาภิวัฒน์อีกครั้งด้วย โดยจะเห็นได้จากการออกแบบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการใช้โครงสร้างของบริษัทประชารัฐ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมีเนื้อหาที่สนับสนุนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ มากกว่าการพัฒนาจากกลุ่มชนชั้นล่างในแบบประชานิยม

สิ่งที่เป็นภาพสะท้อนความต้องการของคณะรัฐประหารที่เชื่อแน่ว่าหลายคนคงมองไม่ต่างจากที่เสกสรรค์เห็น กล่าวคือ หลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการเมืองเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน

การทำสิ่งต่างๆเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ก็สะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร

ไม่เพียงเท่านั้นยังจำกัดพื้นที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาแต่เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันได้จากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญนั้นสามารถเห็นเจตจำนงของผู้ร่างได้จากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ มักตกค้างในภาวะสิ่งที่ตรงข้ามหรือ antithesis นานเกินไป จนหา synthesis ไม่เจอ

ในวันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ การที่รัฐธรรมนูญ 2560 จัดผังอำนาจโดยขยายบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไว้มาก อันนี้เท่ากับนำระบบราชการเข้ามาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง

ในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและควบคุมผู้กุมอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่งย่อมจะทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าระบบวุฒิสภาแต่งตั้งจะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองทีนั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง

บทสรุปของเสกสรรเป็นสิ่งที่ควรต้องขีดเส้นใต้หรือไม่ก็ตัดแปะข้างฝาไว้ ต้องไม่ลืมว่าการจัดสรรอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม อาจดูลงตัวและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในระยะแรก แต่ในภาวะที่มีผู้สมหวังย่อมมีผู้ที่ผิดหวัง ยิ่งเป็นภาวะอกหักยาวนานมองไม่เห็นอนาคตที่จะก้าวหน้า ภาวะดังว่านี้แหละคือสิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องข่มทับให้อยู่หมัด

นาทีนี้สามารถชี้นกเป็นไม้หรือทำให้โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ธรรมาภิบาลสูงอยู่เหนือกฎหมายเพื่อความโปร่งใสทุกฉบับได้เพราะอำนาจจากมาตรายาวิเศษ แต่เมื่อม. 44 หมดไปแล้ว คำถามที่ตามมาคือ ผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้นจะใช้กฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไรมาเป็นเครื่องมือ และเมื่อเวลาเปลี่ยนคนจำนวนไม่น้อย ยังจะยอมถูกกดทับให้สยบยอมอยู่ใต้อุ้งเท้าเผด็จการอีกหรือไม่ นี่ต่างหากที่เป็นปุจฉาอันท้าทาย

Back to top button