KAsset ปันผล ABFTH 7บ./หน่วย วันนี้!

KAsset จ่ายเงินปันผลกองทุน ABFTH ในอัตรา 7 บาท/หน่วย ในวันนี้ (22 มิ.ย.)


นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หรือ บลจ.กสิกรไทย (KAsset) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2560

โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 7.00 บาทต่อหน่วย มูลค่าการจ่ายเงินปันผลรวม 56.2 ล้านบาท โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียน ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2560 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 มิถุนายน 2560

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมา กองทุนสามารถสร้างผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 โดยกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลไปแล้ว 23 ครั้ง

รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 398.73 บาทต่อหน่วย ส่วนในรอบผลการดำเนินงาน 6 ที่ผ่านมา (1 ธ.ค.59 – 31 พ.ค.60) กองทุนให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.80% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 0.78% ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.39% ต่อปี ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 4.54% ต่อปี” นายชัชชัยกล่าว

สำหรับจุดเด่นของกองทุน ABFTH คือ เป็นกองทุนรวม ETF กองทุนแรกของไทยที่มีการลงทุนโดยอ้างอิงกับดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐ (iBoxx ABFTH Index) โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือออกโดยภาครัฐที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน หรือได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) จากสถาบันจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงเนื่องจากกองทุนมีอายุเฉลี่ยของตราสาร (Portfolio Duration) ยาวกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว และต้องการบริหาร Portfolio Duration ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น โดยปัจจุบันกองทุนมีขนาดประมาณ 9,700 ล้านบาท และจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

สำหรับสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ต้นปีตราสารหนี้ไทยค่อนข้างมีความผันผวน โดยปัจจัยหลักมาจากการคาดการณ์ของตลาดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2560 สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง

โดยครั้งล่าสุดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยเหมือนกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อช่วงปลายปี 2559 เนื่องจากตลาดมีการรับรู้ล่วงหน้าไปมากแล้ว และผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่คาดการณ์

ทั้งนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับตัวลดลง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 16 มิ.ย. 60 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 0.14% เป็นไปทางทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับตัวลดลง 0.29% สะท้อนให้เห็นว่ายังมีแรงซื้อจากนักลงทุนที่มีความต้องการเข้าลงทุนในตราสารหนี้

ส่วนแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง นายชัยชัยกล่าวว่า ยังมีปัจจัยที่จะต้องติดตาม โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เนื่องจากระดับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ส่วนใหญ่คาดว่า FED น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งสวนทางกับตลาดที่มองว่าโอกาสปรับขึ้นมีเพียง 30-40%

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยบลจ.กสิกรไทยมองแนวโน้มในครึ่งปีหลังว่า ยังมีโอกาสเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยอยู่บ้าง แต่อาจไม่มากเหมือนในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับลดปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะสั้นลง

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้เป็นแหล่งพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ และอาจมีเงินทุนต่างชาติไหลออกได้บ้างในระยะสั้น จากการขายคืนทำกำไรในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน

รวมถึงความเสี่ยงด้านการเมืองในต่างประเทศ บวกกับปัจจัยภายในประเทศที่เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่สูง ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งยังมีความต้องการเข้าลงทุนในตราสารหนี้ในฐานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

Back to top button