“สมคิด”คาดส่งออกปี 60 มีโอกาสโตเป็น 2 หลัก หวังดันGDPเข้าเป้า 3.5%

"สมคิด"คาดส่งออกปี 60 มีโอกาสโตเป็น 2 หลัก หวังดัน GDP โตเข้าเป้า 3.5%


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงาน “Thailand’s Big Strategic Move” ว่า ในปีนี้มองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.5% หรือมีโอกาสมากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว และการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านคมนาคมที่มากกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ทั้งการสร้างถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ขนส่งสินค้า เป็นต้น ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวดี จากเศรษฐกิจคู่ค้าเติบโต และมองว่าในปีนี้ ส่งออกของไทยมีโอกาสเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก จากปัจจุบันมองเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 5%

“วันนี้ เมฆหมอกแห่งความมืดมนเหล่านี้ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างน่ายินดี ทุกอย่างกำลังเดินหน้าตาม roadmap การเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2561 ทุกสิ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ในขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผล นำความเชื่อมั่นกลับคืนมาด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากที่ตกต่ำลงมาถึงขีดสุดที่จีดีพีขยายตัวเพียง 0.8% เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน ไตรมาส 1/2560 ขยายตัวได้ 3.3% และคาดว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีนี้ จีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5% หรือสูงกว่า และมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 45%” นายสมคิด กล่าว

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา จากการร่วมงานที่ Nikkei forum ที่กรุงโตเกียว โดยหัวข้อหลักของงาน คือ การมองบทบาทของเอเชียในอนาคต ซึ่งจากการร่วมประชุมพบว่า ขณะนี้ประเทศกลุ่มเอเชียกำลังเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมีความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจและการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้นำสหรัฐ การสลัดทิ้งเขตการค้าเสรี NAFTA และ TPP การถอนตัวจากข้อตกลง paris Accord ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และดุลยภาพการเมืองเอเชียกำลังเป็นพลังใหม่ที่จะร่วมประสานกับภูมิภาคอื่นของโลกในการต่อสู้กับแนวคิด protectionist และกระแส reverse globalization ที่กำลังก่อตัวในขณะนี้ ทางเลือกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างเขตการค้าเสรีใหม่โดยเฉพาะ one belt one road ที่ผลักดันโดยจีน TPP ที่นายกรัฐมนตรีอาเบะ ได้อาสาประกาศตนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแทนที่สหรัฐ หรือเขตความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ RCEP ที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียนบวกหกที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดในทุกทางเลือกนั้น “เอเชีย” คือ หัวใจทั้งสิ้น

นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทย แม้ไม่ใช่ประเทศใหญ่ แต่เป็นประเทศที่มีศักยภาพ และทรัพยากรพร้อม ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของ supply chain และ logistic แห่งเอเชีย ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า ไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโต แต่หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารประเทศ และใช้วิธีวิกฤติเป็นโอกาส ทำให้ประเทศกลับคืนความสุข และมีเสถียรภาพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

สำหรับภาคตลาดทุนในประเทศเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 54-59 กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยอยู่ที่ 7% และในปีนี้ ไตรมาส 1/2560 ที่ผ่านมา กำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้นสูงถึง 300,000 ล้านบาทโดยประมาณ หรือเติบโต 21% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ขนาดตลาดได้ขยายตัวโดยลำดับ และมีขนาดถึง 122 % ของขนาดจีดีพี ในขณะที่ตลาดทุนไทยได้ชื่อว่ามีการกำกับดูแลที่ดีโดยมี governance score สูงที่สุดในอาเซียน แต่ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความตึงเครียดทางการเมืองและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และไทยถือเป็นประเทศสินทรัพย์ปลอดภัยในสายตานักลงทุน ทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก

“แม้ประเทศไทยได้กลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติ และมีผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจก็ตาม แต่โจทย์ใหญ่ของประเทศ คือ จะให้การเติบโตนั้นยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างไรในท่ามกลางความท้าทายของโลกที่เผชิญอยู่ ไทยจะสามารถก้าวให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือ middle income trap” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นจึงวางยุทธศาสตร์ไว้ 8 ด้าน ประกอบด้วย ประการแรก : จาก Export led growth สู่ balanced growth economy การมุ่งสู่การเติบโตอย่างสมดุลย์ พึ่งพาปัจจัยภายนอก พร้อมงบประมาณกระจายสู่กลุ่มจังหวัดและสู่ท้องถิ่นโดยตรง ประการที่ 2 : จาก low cost สู่ value based economy การสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมด้วยวิทยาการ ด้วยการค้นคว้าวิจัย และการคิดสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิด cluster การผลิตระหว่างรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการสถาบันศึกษา และสถาบันวิจัย

ประการที่ 3 : jump start โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ด้วยเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งการสร้างถนน ทางด่วน motorway โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การสร้างและพัฒนาสนามบินท่าเรือและสถานีขนส่งสินค้า ครอบคลุมช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า ผ่านแหล่งเงินทุน 4 แหล่ง คือ งบประมาณ แหล่งเงินกู้ยืม การร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP fast track ผ่านการสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง คือ เส้นสีเขียว น้ำเงิน ส้ม เหลือง และชมพู และภายในปีนี้จะเริ่มเปิดประมูลอีก 3 เส้นทาง คือ ม่วงใต้, ส้มตะวันตก และสีแดง และในช่วง 2 เดือนข้างหน้าจะสรุปผลการประมูลรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง เพื่อเริ่มลงทุนภายในปีนี้

สำหรับเส้นทางรถไฟไทย-จีน คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงกันยายน และก่อนสิ้นปีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง, กรุงเทพ-หัวหิน และเส้นทางรถไฟฟ้า จ.ภูเก็ต ลงทุนแบบ PPP fast track เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม. ทุกโครงการเริ่มต้นก่อนปลายปีหน้า นอกจากนี้กระทรวงการคลังเตรียมการจำหน่ายหน่วยลงทุน Thailand future Fund คาดว่าจะสามารถเริ่มขายลอตแรกได้ภายในไตรมาส 3-4 ของปีนี้แน่นอน เป็นทางเลือกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ให้เกินระดับ 50%

ประการที่ 4 : Eastern economic corridor, corridor for the future รัฐบาล ยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ประการที่ 5 : มุ่งสู่ digital Thailand รัฐบาลเตรียมก้าวสู่ยุคดิจิตัล โดยจัดสรรงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อติดตั้ง Internet broadband กว่า 24,000 หมู่บ้านในปีนี้ และอีก 2 หมื่นหมู่บ้านในปีหน้า เพื่อส่งเสริมชนบท พัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การค้าผ่าน e-commerce จากชนบทสู่โลก การลงทุนวางระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ กว่า 5 พันล้านบาท เพื่อให้ไทยยกระดับ international gateway ของภูมิภาคในอนาคต

ประการที่ 6 : Thailand, a start up nation รัฐบาลมุ่ง การการจัดสถานที่ (working spaces) สำหรับผู้ประกอบการ start up ประการที่ 7 : การเชื่อมต่อ geopolitic และ geoeconomic การเชื่อมโยงเชื่อมโยงกับกลุ่ม CLMV สร้างพลังร่วมของการท่องเที่ยว การจัดทำพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกัน ไปสู่อนุภูมิภาคอื่น ประการที่ 8 : ยกเครื่องประสิทธิภาพ และความโปร่งใสภาครัฐ รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบาย Ease of doing business ด้วยการลดขั้นตอน การขจัดอุปสรรค การแก้และออกกฎหมายใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การริเริ่ม integrity pact และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดต้นทุนการบริการ ขจัดปัญหาด้านคอร์รัปชั่น เพื่อยกระดับการพัฒนาการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ เพื่อประชุมร่วมกับ CEO ของรัฐวิสาหกิจในวันจันทร์ (26 มิ.ย.) ที่จะถึงนี้

Back to top button