ดอลล์อ่อนค่าหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อคืนนี้ (23 เม.ย.) จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐในเดือนมี.ค.ที่ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อคืนนี้ (23 เม.ย.) จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐในเดือนมี.ค.ที่ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0825 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0742 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์เพิ่มขึ้นที่ 1.5057 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5045 ดอลลาร์สหรัฐ, ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 119.49 เยน เทียบกับระดับ 119.87 เยน และลดลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9547 ฟรังก์ จาก 0.9696 ฟรังก์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7777 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7772 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนมี.ค.ดิ่งลง 11.4% สู่ระดับ 481,000 ยูนิต ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2556 จากระดับ 543,000 ยูนิตในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2551

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ยอดขายบ้านใหม่จะลดลงสู่ระดับ 513,000 ยูนิตในเดือนที่แล้ว ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐที่ร่วงลงมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่งในเดือนมี.ค. บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ

ขณะเดียวกัน มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 54.2 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 55.7 ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอยู่ที่ระดับ 55.5

ภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. โดยกิจกรรมภาคโรงงานชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. นอกจากนี้ ข้อมูลด้านแรงงานที่ย่ำแย่ก็เป็นปัจจัยลบต่อดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. เพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 295,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 290,000 ราย

Back to top button