สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 มิ.ย.60


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง เมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) โดยดาวโจนส์ และ S&P500 ปรับตัวลงหนักสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง ซึ่งได้สกัดปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,287.03 จุด ร่วงลง 167.58 จุด หรือ -0.78% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,419.70 จุด ลดลง 20.99 จุด หรือ -0.86% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,144.35 จุด ลดลง 90.06 จุด หรือ -1.44%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลง เมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรอาจสร้างแรงกดดันต่ออุตสหกรรมการส่งออกของยุโรป อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานที่ว่า ธนาคารพาณิชย์ 34 แห่งของสหรัฐ ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test)

ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.3% ปิดที่ 380.66 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,154.35 จุด ลดลง 98.55 จุด หรือ -1.88% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,416.19 จุด ดิ่งลง 231.08 จุด หรือ -1.83% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,350.32 จุด ลดลง 37.48 จุด หรือ -0.51%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบ เมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) ด้วยแรงกดดันจากค่าเงินสกุลปอนด์ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน

ดัชนี FTSE 100 ลดลง 37.48 จุด หรือ -0.51% ปิดที่ 7,350.32 จุด

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้น เมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ทำสถิติปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ขานรับรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 19 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 44.93 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 11 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 47.42 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบ เมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐและยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการถือครองทองคำ โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นนั้น มาจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งส่งสัญญาณยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 3.3 ดอลลาร์ หรือ 0.26% ปิดที่ระดับ 1,245.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 13.7 เซนต์ หรือ 0.82% ปิดที่ 16.654 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.1 ดอลลาร์ หรือ 0.12% ปิดที่ 923.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 8.50 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 846.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) ด้วยปัจจัยหนุนจากการที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากแรงกดดันของรายงานตัวเลขประมาณการจีดีพีประจำไตรมาส 1 ของสหรัฐ ซึ่งแม้จะขยายตัวดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ยังเป็นตัวเลขเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1438 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1382 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นที่ระดับ 1.2996 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2936 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 0.7675 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7638 ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 112.03 เยน จากระดับ 112.32 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9564 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9596 ฟรังก์สวิส

Back to top button