แนสแด็กและการเปลี่ยนโลกพลวัต2015

สองวันก่อนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีIXIC ของตลาดหุ้นแนสแด็กของสหรัฐทำนิวไฮ หรือจะเรียกว่า ออล-ไทม์ไฮ เป็นสถิติติดต่อกัน 2 วันรวด หลังจากรอคอยกันมายาวนาน 15 ปี กับอีก 1 เดือนเศษ ที่เคยทำเอาไว้ ในยุคที่ถูกขนานนามว่าฟองสบู่ดอตคอม


สองวันก่อนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีIXIC ของตลาดหุ้นแนสแด็กของสหรัฐทำนิวไฮ หรือจะเรียกว่า ออล-ไทม์ไฮ เป็นสถิติติดต่อกัน 2 วันรวด หลังจากรอคอยกันมายาวนาน 15 ปี กับอีก 1 เดือนเศษ ที่เคยทำเอาไว้ ในยุคที่ถูกขนานนามว่าฟองสบู่ดอตคอม

ผลพวงของการทำนิวไฮของดัชนีIXIC ดังกล่าว ทำให้หุ้นที่ทำท่าจะปรับฐานลงวิ่งขึ้นมาอีกเป็นการโหนกระแส โดยเฉพาะดัชนี S&P 500 ที่เมื่อวันศุกร์ทำนิวไฮเช่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้ายังมีอารมณ์กันว่าต้องปรับตัวลงเพราะดัชนีแพงเกินไปแล้ว

ที่ว่าแพงไปก็เพราะว่า พี/อีของตลาดแนสแด็กตอนนี้ อยู่ที่ระดับ 25 เท่า แพงที่สุดในโลก ใกล้เคียงกับพี/อีของตลาดเซี่ยงไฮ้ และสูงกว่าตลาดหุ้นไทยที่ระดับ 22 เท่า

คำถามก็คือ สูงถึงขนาดนี้แล้วตลาดแนสแด็กเป็นฟองสบู่หรือยัง และจะซ้ำรอยกับการแตกของฟองสบู่ดอตคอมครั้งก่อนเมื่อ 15 ปีหรือไม่

คนตอบส่วนใหญ่ยามนี้จะบอกว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว จะไม่มีการเกิดฟองสบู่แตกเหมือนเดิม เพราะยังไม่เป็นฟองสบู่เลย ตอบเช่นนี้ ดูจะมั่นใจกันเหลือเกิน

เพื่อให้ชัดเจน จึงควรต้องทบทวนยุคสมัยฟองสบู่ดอตคอมกันอย่างจริงจัง

ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม คือ ภาวการณ์เก็งกำไร อันเกินควรของตลาดหลักทรัพย์ภาคเทคโนโลยีในตลาดแนสแด็ก ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1998 ถึงปี ค.ศ. 2001 (โดยที่จุดสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 2000 เมื่อตลาดแนสแด็กขึ้นไปถึง 5,132.52)

ในช่วงเวลานั้นตลาดหลักทรัพย์ทางตะวันตกเป็นตลาดที่มูลค่าของหุ้นในเครืออินเทอร์เน็ตถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับหุ้นในภาคตลาดอื่นๆ โดยทั่วไป พี/อีระดับเกิน 50 เท่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอ้างว่าพี/อี อนาคตจะลงเท่ากับตลาดหากกำไร

ชื่อเรียกดังกล่าว เกิดจากกระแสการก่อตั้งธุรกิจหรือบริษัทที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นฐานขึ้นเป็นจำนวนมากที่เรียกว่า “บริษัทดอตคอม” เมื่อเห็นว่าราคาหุ้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็วธุรกิจต่างก็หันมาเติมคำ e-” นำหน้าชื่อ หรือเติม .com” ท้ายชื่อที่ทำให้ดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต

กระแสที่นำไปสู่ภาวะฟองสบู่ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเลื่อนลอย แต่มีรากเหง้าจากการโหมกระแสของความกังวลสถานการณ์ที่เรียกว่า Y2K ซึ่งหมายถึงปี ค.ศ.2000 นั่นเอง

ในตอนนั้นมีการโหมกระพือว่าคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะพังเพราะการเปลี่ยนสหัสวรรษจาก ค.ศ. 1999 เป็น ค.ศ. 2000 ทำให้เกิดความหวาดผวาไปทั่ว สร้างระบบตรวจสอบและป้องกันอันตรายจาก Y2K กันทั่วโลก ทำให้ธุรกิจไอทีเป็นธุรกิจยิ่งกว่าทองคำ มีกำไรมหาศาล ขนาดไมโครซอฟต์ ยังมีขนาดมาร์เก็ตแคปแซงหน้าธุรกิจน้ำมันหรือรถยนต์ด้วยซ้ำ

คำพูดว่า ธุรกิจดอตคอมคือธุรกิจแห่งอนาคต และสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่า นิว อีโคโนมี ซึ่งบริษัทที่ทำธุรกิจบนเครือข่ายออนไลน์เรียกว่าclick-and-mortar company จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันแทนธุรกิจแบบเดิมที่เราคุ้นเคยมานานนับสหัสวรรษ ที่เรียกว่า brick-and-mortar company

ความที่ตลาดแนสแด็ก เปิดช่องให้บริษัทหน้าใหม่ๆ ที่เน้นด้านเทคโนโลยีเข้ามาระดมทุนได้ง่ายกว่า ทำให้บรรดาบริษัทที่ทำธุรกิจเครือข่ายออนไลน์ พากันแต่งตัวเข้าจดทะเบียนเป็นธุรกิจมหาชน ด้วยความช่วยเหลือของวาณิชธนกิจต่างๆ และกองทุนร่วมเสี่ยง (เวนเจอร์ แคปปิตอล) ที่เรียกตนเองเสียโก้ว่า นักลงทุนระดับเทพ (angel investors)

ปัจจัยต่างๆ ที่รวมทั้งการถีบตัวสูงขึ้นของหุ้น, ความมั่นใจของตลาดที่เชื่อว่าบริษัทจะสร้างผลกำไรในอนาคต, การเก็งกำไรของแต่ละคน โดยมีกองเชียร์หลักที่เป็นกองทุนร่วมเสี่ยง สร้างบรรยากาศที่ทำให้นักลงทุนมองข้ามพื้นฐานหลักของการลงทุน ไม่ใส่ใจกับราคาหุ้นเทียบกำไรต่อหุ้นหรือ พี/อี ของหุ้น

ความลุ่มหลงกับกระแสดอตคอม ที่นักลงทุนหันไปให้ความเชื่อมั่นต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากเกินขนาด เกิดเป็นมายาคติ หลงเชื่อมั่นว่าเป็นอนาคตของการทำธุรกิจที่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำรออยู่ข้างหน้า

3 ปีของมายาคติ ที่ทำให้มีเศรษฐีใหม่จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมากมาย เพราะว่าข้อเท็จจริงที่ตามมาฟ้องว่า ความก้าวหน้าต่ำกว่าระดับความต้องการที่มนุษย์คาดหวังไว้จะให้มันมี ความถดถอยก็เริ่มเกิดขึ้นในตลาดทุนเมื่อราคาหุ้นเทคโนโลยีเริ่มตกลง เพราะการเติบโตแซงหน้าความสามารถทำกำไร และเริ่มขาดทุนกันเป็นห่วงโซ่ ถึงขีดที่ว่าไม่เหลืออะไรเลย กลายเป็นภาวะฟองสบู่แตกในที่สุด

ดัชนี IXIC ใช้เวลาร่วงยาวนาน 2 ปี จากวันที่ปิดสูงสุด 5,048 จุด ลงไปที่ระดับ 1,100 จุด ก่อนจะรีบาวด์ฟื้นตัวกลับมาในระดับไม่มากนัก และเจอวิกฤตซับไพร์มซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ.2008 ซึ่งเป็นจุดพลิกผัน เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่เคลื่อนตัวเข้าผนึกกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดคลื่นของโมเดลธุรกิจออนไลน์เวอร์ชั่นใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง ที่ไม่ได้จำกัดแค่ ซิลิกอน วัลเลย์แบบเมื่อ 15 ปีอีกแล้ว แต่กระจายตัวไปทั่วโลก

โมเดลธุรกิจใหม่นี้ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างรวดเร็ว รอบด้าน และต่อเนื่อง (หรือเร็วกว่าเดิม) ทำให้โลกดิจิตอลเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ และเริ่มจำเป็น อุปกรณ์ไร้สายเชื่อมโลกเข้าด้วยกันอย่างไม่ใช่กระแสแฟชั่นอีกต่อไป เพราะไอเดียเพี้ยนๆ ในยุคดอตคอมกลับกลายเป็นไอเดียที่เข้าท่ามากๆ เสียด้วย

บริษัทอย่างแอปเปิล หรือกูเกิล หรือเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ กลายเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาล ความเฟื่องฟูทางธุรกิจที่บ่มเพาะจากนวัตกรรมใหม่ ทำให้แนสแด็กกลายเป็นตลาดที่มีขาขึ้นยาวนานนับแต่ปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา แม้จะมีพักฐานสั้นๆ ตามรายทางอยู่บ้าง

หลายปีมานี้ การวิ่งขึ้นของดัชนี IXIC และความคึกคักของตลาดหุ้นแนสแด็ก มีส่วนทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก พ้นจากความตีบตันของภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จนต้องใช้มาตรการ QE มากระตุ้น ทำให้ดัชนีอย่างดาวโจนส์และ S&P500 เอาตัวรอดจากสถานการณ์ขาลงมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

วันนี้ ไม่มีใครพูดถึงฟองสบู่ดอตคอมกันอีกแล้ว และคำว่านิว อีโคโนมี ก้อพ้นสมัยไปแล้ว เนื่องจากธุรกิจยุคใหม่กับเก่าเดินคู่ขนานกันไปด้วยโมเดลผสมผสานกันไป การทำ ออล-ไทม์ ไฮ ของแนสแด็ก จึงเป็นแค่การตอกย้ำว่า ยุคสมัยของธุรกิจ ได้เปลี่ยนไปเต็มรูป

จะบอกว่าเป็น พาวเวอร์ ชิฟท์ แบบที่อัลวิน ทอฟท์เลอร์พูด ก็คงไม่ผิด หรือไม่ก็ใกล้เคียง

Back to top button