ภาวะสินเชื่อตึงตัว

ทันทีที่ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB เริ่มมองหาทางลดวงเงิน QE อัดฉีดเศรษฐกิจ เพราะมองเห็นว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปเริ่มผงกหัวขึ้นมา ความกังวลใหม่ว่าด้วยสินเชื่อตึงตัว หรือวิกฤตสินเชื่อ ก็เริ่มโผล่ออกมาจากปลายลิ้นของนายธนาคารกลาง


พลวัตปี 2017: วิษณุ โชลิตกุล

ทันทีที่ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB เริ่มมองหาทางลดวงเงิน QE อัดฉีดเศรษฐกิจ เพราะมองเห็นว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปเริ่มผงกหัวขึ้นมา ความกังวลใหม่ว่าด้วยสินเชื่อตึงตัว หรือวิกฤตสินเชื่อ ก็เริ่มโผล่ออกมาจากปลายลิ้นของนายธนาคารกลาง

เริ่มต้นจากนายธนาคารกลางของอังกฤษก่อนใคร

สัปดาห์นี้ ธนาคารกลางอังกฤษ ออกเอกสารเปิดเผยและชี้นำทิศทางของตลาดเครดิตผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร โดยเสนอให้นายธนาคารพาณิชย์ทำการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะที่ด้อยคุณภาพ หรือสินเชื่อบุคคลผ่านบัตรเครดิตที่ต่ำใกล้ระดับ 0% ว่ามีความสุ่มเสี่ยงเข้าขั้นอันตรายได้ หลังจากพบว่าตัวเลขปล่อยสินเชื่อในครึ่งแรกของปีนี้บวกมากขึ้น 10.3% แซงหน้าอัตราเติบโตของรายได้ภาคครัวเรือนที่มีเพียงแค่ 2.3% ซึ่งหากปล่อยไปจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ง่ายมาก

มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อภาคครัวเรือนและส่วนบุคคลที่ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 30 เดือน จึงเริ่มถูกนำเสนอเป็นการโยนก้อนหินถามทาง เพื่อป้องกันหนี้เน่า

นายธนาคารกลางอังกฤษกับนายธนาคารกลางของไทย คิดไม่ต่างกันเลย ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ คือ การควบคุมสินเชื่อดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่สินเชื่อตึงตัวหรือ Tight money มากน้อยแค่ไหน

ในทางเศรษฐศาสตร์  ภาวะสินเชื่อตึงตัว หรือ เงินตึงตัว (Tight money) คือ สถานการณ์ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาดน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการเงินกู้ยืมสูง ในสถานการณ์เช่นนี้ อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการลงทุนและการผลิตกลับลดต่ำลง เป็นสภาพที่เงินหายาก เงินที่มีอยู่ในตลาดมีน้อยไม่พอกับความต้องการของประชาชน

สัญญาณชัดเจนเรื่องนี้ คือ การที่เงินฝากที่อยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อสะท้อนถึงความไม่มั่นใจทั้งแบงก์และประชาชน แบงก์เองก็กลัวที่จะปล่อยสินเชื่อ ประชาชนก็กลัวที่จะใช้จ่าย แม้ว่าในตอนแรกยังจะไม่มีปัญหา แต่หากตัวเลขสะท้อนแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องคอยดู เพราะเชื่อมโยงเข้ากับการเติบโตของจีดีพี

การที่ภาคธนาคารพาณิชย์ส่งสัญญาณระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะสินเชื่อตึงตัว แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังผ่อนชำระถูกกระทบ รวมถึงยอดขายที่ลดลง อาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เร่งตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ทำให้การเติบโตลดลง ส่งผลต่อการชำระหนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องติดตาม

โดยทางปฏิบัติ สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเงินตึงตัว  แบ่งได้เป็น 2 ด้านใหญ่ๆ คือ 1. ด้านอุปทาน 2. ด้านอุปสงค์ ซึ่งการแก้ไขโดยใช้นโยบายเงินตึงตัว (Tight money Policy) ซึ่งเป็นนโยบายของธนาคารกลางในการควบคุม หรือลดปริมาณเงิน และเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ หรือเพื่อเพิ่มอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ มักจะก่อปัญหามากกว่าแก้ไขปัญหา และส่งผลต่อภาคธุรกิจที่รุนแรง

ทางแก้ที่ดีกว่าแต่ไม่ถูกใจนายธนาคารกลางมาโดยตลอด คือ การใช้มาตรการการเงินผ่อนคลาย (Easy Money) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ประนีประนอมกัน ไม่ใช้วิธีการรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่วิธีการที่ดีสุดเช่นกัน

ปรากฏการณ์ที่น่าติตตาม คือ ทุกครั้งที่เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว จะเป็นกลไกบีบรัดบริษัทต่างๆ ให้สั่นคลอนอุตสาหกรรมธุรกิจให้ต้องดิ้นรนหาทางรอดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เท่ากับเปิดทางให้กับดีลการทำธุรกรรม จะกลายเป็นโอกาสทองให้แก่บรรดาบริษัทนักล่ากิจการ ในการเสาะหาซื้อกิจการน่าสนใจจากทั่วโลก

บริษัทธุรกิจที่ถูกบังคับให้ต้องลดระดับราคาที่คาดหมายว่าน่าจะขายได้ลงมา ขณะที่บริษัทกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชนระดับอินเตอร์รายยักษ์จำนวนไม่น้อยจะเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มมูลค่าทางลัดในธุรกิจด้วยการล่ากิจการเอามาใต้ร่มธง เสริมแรงขับดันให้เกิดดีลเทคโอเวอร์กิจการให้ทะยานลิ่วในระยะต่อไป ได้ง่ายมากขึ้น

ความคาดหมายว่าดีล M&A จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ยาก โดยเฉพาะการดีลธุรกิจในลักษณะช่วยอัดฉีดเงินให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้หุ้นส่วนข้างน้อยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อหนี้ก้อนโต จึงกลายเป็นทางเลือกในลักษณะ “ฝนตกขี้หมูไหล” โดยปริยาย

ทางเลือกเช่นนี้ จะเป็นฉากธุรกรรมที่เลี่ยงไม่พ้นในระยะต่อไป ส่วนจะเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือปลาเล็กกินปลาใหญ่ ต้องติตตามกันเป็นกรณีๆ ไป

Back to top button